xs
xsm
sm
md
lg

“เหล่าเสือโก้ก” ต้นแบบใช้งบ Long term Care จัดระบบดูแล “ผู้เฒ่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ หรือ งบประมาณ Long Term Care พื้นที่ ต.เหล่าเสือโก้ก อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบแรก ๆ ที่มีการใช้งบประมาณ Long Term Care ได้เป็นอย่างดี

นางสิรินทิพย์รัตน์ ศรีสุธรรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี เล่าว่า ที่ผ่านมา ในพื้นที่มีการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อมีงบ Long Term Care ลงมาสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก ก็ช่วยส่งเสริมให้การดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ดีขึ้น ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีเพียงงบกองทุนสุขภาพตำบลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สำหรับพื้นที่ ต.เหล่าเสือโก้ก มีผู้สูงอายุประมาณ 1,017 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุติดบ้านจำนวน 40 คน และผู้สูงอายุติดเตียงที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลืออีกประมาณ 4 คน

การจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่นั้น นางสิรินทิพย์รัตน์ เผยว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงต้องมีการดูแลโดยการเยี่ยมบ้าน บุคคลที่จะลงไปดูแลถึงบ้านจะต้องเป็นผู้ที่ดูแลผู้สุงอายุ และให้คำแนะนำแก่ญาติเพื่อช่วยดูแลผู้สุงอายุที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การจัดการดูแลแผลกดทับ เรื่องของอาหาร จิตใจ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ซึ่งการจัดระบบนั้นมีการจัดอบรมพยาบาบในพื้นที่ให้เป็น Care Manager คือ จัดระบบในการดูแลผู้สุงอายุทั้งหมด และจัดให้มีการ Care Giver หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยตรง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกและอบรมตามหลักสูตรของกรมอนามัย ซึ่งการได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมมาโดยตรงนี้ ก็ช่วยให้ผู้สุงอายุได้รับการดูแลอย่างดีและมีความสุข

สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ส่วนใหญ่ก็มักมีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ เบาหวาน และความดัน ก็มีการจัดการดูแลเรื่องของสุขภาพ เช่น การจัดวันดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง โดยมีแพทย์มาออกตรวจลงที่ รพ.สต. เดือนละ 2 คัร้ง คือ วันพุธสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน และมีกิจกรรมให้ความรู้ อย่างโรคเบาหวาน ก็มีการจัดกิจขกรรมเรื่องการแช่เท้า เพื่อให้ผู้สุงอายุที่ป่วยโรคเบาหวานดูแลเท้าตัวเองมากขึ้น เพราะอาจเกิดแผลเรื้อรังขึ้นได้ ซึ่งปัญหาคือผู้สุงอายุส่วนใหญ่เดิมเป็นเกษตรกร ทำไร่ทำสวน ก็มักไม่ใส่รองเท้า บางคนซื้อรองเท้าผ้าใบ รองเท้าบูตมาแต่ก็ไม่ยอมใส่ จึงต้องมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการดูแลเท้าตัวเอง ซึ่งก็ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

จุดเด่นที่ทำให้งานดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ประสบความสำเร็จ นางสิรินทิพย์รัตน์ ระบุว่า คือ การทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุและเห็นความสำคัญได้ เมื่อเขาเข้ามามีส่วนร่วมก็จะรู้สึกความเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางสาธารณสุข เทศบาล ผู้นำชุมชน อสม. โรงเรียน รวมไปถึงวัด อย่างในพื้นที่จะมีการอบรมถวายแก่เจ้าคณะตำบลและพระภิกษุในเรื่องของการดูแลสุขภาพ ซึ่งตามปกติแล้วในพื้นที่จะมีการฟังธรรมทุกเย็น นอกจากพระจะช่วยดูแลเรื่องของจิตใจแล้ว ก็อบรมถวายให้ท่านดูแลให้ความรู้เรื่องสุขภาพทางกายไปด้วย เป็นต้น สำหรับไฮไลต์ในการดูแลผู้สูงอายุคือ การร่วมกับเทศบาลในการจัดงานผู้สุงอายุทุกเดือน เม.ย. ของทุกปี ที่จะมีการจัดกิจกรรมร้องรำทำเพลง ฟังธรรม รดน้ำดำหัวขอพร รวมถึงการตรวจสุขภาพ

“การดำเนินงานต่าง ๆ จะไม่ประสบความสำเร็จ หากขาดงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล และงบประมาณ Long Term Care แต่ที่ทำให้พื้นที่เหล่าเสือโก้กมีความโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากงบประมาณเหล่านี้ มีความยุ่งยากในการใช้ อาจติดระเบียบ หรือต้องถูกตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ แต่สำหรับพื้นที่เหล่าเสือโก้ก เราเอาเกณฑ์การใช้งบประมาณของกองทุนทั้งสองมาศึกษาอย่างถ่องแท้เลยว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรจึงเกิดประโยชน์สูงสุด” นางสิรินทิพย์รัตน์ กล่าว

ขณะที่ นายกฤตนัน ปุสิงห์ นายกเทศมนตรีตำบลเหล่าเสือโก้ก กล่าวว่า เรื่องการใช้งบประมาณค่อนข้างยุ่งยาก อย่าง Care Giver และ Care Manager ก็ไม่สามารถนำงบกองทุนดังกล่าวมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนได้ ก็มีการศึกษาเกณฑ์การใช้งบประมาณอย่างถ่องแท้ โดยทางเทศบาลตำบลเหล่าเสือโก้ก ออกระเบียบให้ Care Giver เป็นเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้สุงอายุ จึงช่วยปลดล็อกเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนได้ ขณะที่ Care Manager ก็ใช้ระเบียบขอบโรงพยาบาลในการจ่ายค่าตอบแทน

ส่วนการใช้งบประมาณในการดูแลผู้สุงอายุนั้น ก็จะมาจากการทำโครงการในการดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มติดสังคม ติดบ้าน ติดเตียง จะมีการทำอะไร ใช้งบประมาณเท่าไร เขียนมาให้ชัด ซึ่งเมื่อเทศบาลอนุมัติก็จะนำงบประมาณดังกล่าวไปดำเนินการได้ ซึ่งจากการดำเนินงานมาตลอดถือว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นได้” นายกฤตนัน กล่าว

ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมดูแลผู้สุงอายุได้เป็นอย่างดี และมีการศึกษาการใช้งบประมาณอย่างชัดแจ้ง ช่วยให้การใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุทำได้อย่างไม่ติดขัด ทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น