กาฬสินธุ์ - ตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจถนนลูกรัง อบต.สามัคคี อำเภอร่องคำ กาฬสินธุ์ พบซ่อมแซมถนนลูกรังตั้งแต่ปี 52-59 หลายสิบโครงการ ระบุค่าประมาณการค่าหินลูกรังแพงกว่าท้องตลาด 30% และซ่อมถนนทับซ้อนกับ อบจ.กาฬสินธุ์ หลายสาย เดินหน้าสอบประปาผิวดินงบ 1.7 ล้านบาท หลังสร้างเสร็จถูกปล่อยทิ้งไม่ใช้ประโยชน์
จากกรณีภาคประชารัฐจังหวัดกาฬสินธุ์ สุดทนการบริหารงานฝ่ายบริหาร องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังแบบกินเปล่า บางโครงการไม่มีถนน แต่เขียนโครงการเบิกจ่ายมาตั้งแต่ปี 2552-2559 ทำให้สูญเสียงบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท โดยรวมตัวปักป้ายเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดเจ้าหน้าที่ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเข้ามาตรวจสอบ ขณะที่ฝ่ายสภาฯ ได้เปิดเวทีซักถามข้อเท็จจริงจากสมาชิกสภาฯ และให้ผู้บริหารชี้แจง แต่กลับไม่คืบหน้า เนื่องจากไม่เข้าประชุม ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจหวิดเกิดม็อบขับไล่ กระทั่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช.และ ปปท.ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุด นายยุระ บุตรกัณหา นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบงานจัดซื้อจัดจ้าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด (สตง.) กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ยังคงลงพื้นที่เข้าตรวจสอบปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ได้นำเจ้าหน้าที่ อบต.สามัคคี และชาวบ้านที่ร้องเรียนเดินเท้าตรวจสอบถนนลูกรังสายต่างๆ ที่มีการซื้อจัดจ้างโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2559 ซึ่งมีอย่างต่ำ 40 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 5 ล้านบาท
นายยุระ บุตรกัณหา นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบงานจัดซื้อจัดจ้าง สตง.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า น่าจะมีการตั้งค่าประมาณการ หรือค่าซื้อหินลูกรังแพงกว่าท้องตลาดมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์หลายโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการมีการตั้งงบไว้ประมาณโครงการละ 98,000-99,000 บาท นอกจากนี้ ยังพบว่าการซ่อมแซมถนนยังไม่ระบุจุดจะซ่อมที่ชัดเจน ไม่ถ่ายภาพไว้ขณะทำงาน และตรวจรับงาน
อีกทั้งถนนบางสายยังไปซ่อมทับซ้อนกับถนนลูกรังที่ อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ บางสายเกรดดินทับ ส่วนการตรวจสอบว่าซ่อมถนนโดยนำหินลูกรังมาจริงหรือไม่นั้น ขณะนี้ค่อนข้างจะตรวจสอบลำบาก เพราะผ่านมาหลายปี แต่เจ้าหน้าที่จะต้องลงพื้นที่สืบข้อเท็จจริงตามวิธีทำงานของ สตง.กาฬสินธุ์ โดยจะตรวจเช็กใบฎีกาที่จัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทีละใบควบคู่ไปกับถนนที่ระบุไว้ในฎีกาที่เบิกจ่าย ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร
ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจเช็กโครงการถนนลูกรังทั้งหมด และให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่ากระทำผิดจริง สตง.กาฬสินธุ์ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้เงินประมาณของแผ่นดินเกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติสูงสุด ตามนโยบายของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
นายยุระ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบประปาผิวดิน บ้านโนนเสียว ม.6 ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดย อบต.สามัคคี งบประมาณ 1,796,500 บาท แต่กลับปล่อยทิ้งร้างไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้นั้น เท่าที่สอบถามกับเจ้าหน้าที่ อบต.สามัคคี ถึงสาเหตุพบว่า ระบบไฟฟ้ายังขยายเข้ามาไม่ถึงสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจากเป็นที่ป่าสงวน และบริเวณรอบข้างเป็นที่เอกชนจึงไม่อนุญาตให้ตั้งเสาไฟ
ประกอบระบบไฟฟ้าไม่ได้อยู่ในประมาณการของงบประมาณก่อสร้าง ทั้งยังขาดงบประมาณ จึงถูกปล่อยทิ้งไว้ อย่างไรก็ตาม จะต้องรอผู้บริหารของ อบต.สามัคคี ทั้งนายก และปลัดเข้ามาชี้แจงเรื่องราว รวมทั้งโครงการทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ สตง.กาฬสินธุ์ ได้ประสานให้เข้ามาชี้แจงแล้ว เบื้องต้น นายก อบต.สามัคคี อ้างว่า ติดภารกิจยังไม่เข้ามาชี้แจง ส่วนปลัด อบต.สามัคคี อ้างว่าไปอบรมหลักสูตรผู้บริหารที่กรุงเทพฯ แต่เจ้าหน้าที่จะต้องให้ทั้ง 2 คนเข้ามาชี้แจงให้ได้