xs
xsm
sm
md
lg

แฉปลอมลายเซ็น ผญบ.-ตั้งฎีกาผีเบิกเงินซ่อมถนนลูกรัง อบต.สามัคคี กาฬสินธุ์(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปปท.ระบุตรวจพบมีใบฎีกาเบิกเงินแต่ไม่มีถนน ตั้งงบซ่อมแซมบ่อยครั้ง ไม่มีประกันสัญญาจ้าง และปลอมลายเซ็นผู้ใหญ่บ้านในหนังสือร้องขอซ่อมถนน
กาฬสินธุ์ - ป.ป.ท.แฉโครงการซ่อมถนนลูกรัง อบต.สามัคคี อ.ร่องคำ ทุจริต หลังตรวจพบงบประมาณปี 58-59 จำนวน 16 โครงการ มีใบฎีกาเบิกเงินแต่ไม่มีถนน ตั้งงบซ่อมแซมบ่อยครั้ง ไม่มีประกันสัญญาจ้าง และปลอมลายเซ็นผู้ใหญ่บ้านในหนังสือร้องขอซ่อมถนน ขณะที่ สตง.กาฬสินธุ์ส่งทีมสืบข้อเท็จจริง และเช็กราคาหินลูกรัง หลังพบค่าประมาณการค่าหินลูกรังแพงกว่าท้องตลาด 30 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเรียกตัวนายก อบต.และปลัดเข้าชี้แจง



จากกรณีภาคประชารัฐจังหวัดกาฬสินธุ์ สุดทน เหตุฝ่ายบริหาร อบต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังแบบกินเปล่า และบางโครงการไม่มีถนน แต่เขียนโครงการเบิกจ่ายมาตั้งแต่ปี 2552-2559 ทำให้สูญเสียงบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท นัดรวมตัวปักป้ายเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเข้ามาตรวจสอบ

ขณะที่ฝ่ายสภาฯ ได้เปิดเวทีเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากสมาชิกสภาฯ และให้ผู้บริหารชี้แจง แต่กลับหลบหนีไม่เข้าประชุมทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ หวิดเกิดม็อบขับไล่ กระทั่งทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง., ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ ซึ่งพบค่าประมาณการค่าหินลูกรังแพงกว่าท้องตลาด 30 เปอร์เซ็นต์ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (26 ก.ย.) นายทองสุข ณ พล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 4 (ขอนแก่น) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการซ่อมแซมถนนลูกรัง ตามรายการที่ระบุในรายการเบิกจ่ายของ อบต.สามัคคี โดยเบื้องต้นได้ตรวจสอบโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังของปีงบประมาณ 2558-ปี2559 ก่อน เนื่องจากเป็นโครงการล่าสุดพบว่ามีการโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังทั้งหมด 16 โครงการ แยกเป็น ปี 2558 จำนวน 12 โครงการ และปี 2559 จำนวน 4 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณเกือบ 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ การซ่อมแซมทาง อบต.สามัคคีได้ตั้งงบประมาณไว้ในหมวดซ่อมแซมใช้จ่ายและซื้อวัสดุ แต่การตั้งงบไว้ไม่เพียงพอจึงมีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปอยู่ในหมวดรายจ่ายอื่นๆ และนำเงินไปซ่อมแซมถนนลูกรังโดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วน กรณีดังกล่าวหากเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ตามระเบียบจะต้องมีการร้องขอจากประชาชนและถนนเกิดความชำรุดเสียหาย แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่าถนนที่มีการซ่อมไม่ได้ชำรุดและไม่มีความเสียหายมากนัก ทาง อบต.สามัคคีได้นำหนังสือขอความช่วยเหลือให้ซ่อมแซมถนนมาอ้าง แต่จากการตรวจสอบลายมือชื่อเบื้องต้นกับผู้ใหญ่บ้าน ม.9 ม.10 ม.11 และ ม.12 พบว่าลายเซ็นไม่เหมือนกัน และผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเซ็นชื่อในเอกสารร้องขอให้ซ่อมถนน ดังนั้นถือว่าเป็นการปลอมลายเซ็น

นายทองสุขกล่าวต่อว่า จากการสุ่มตรวจสอบยังพบว่าถนนลูกรังบ้านนาเรียง ม.10-หนองไห หนึ่งในโครงการที่มีชื่อถนนในใบฎีกาเบิกเงินพบว่าไม่มีถนนสายดังกล่าวในพื้นที่ เป็นเหมือนถนนผีตามที่ชาวบ้านระบุ นอกจากนี้ ถนนลูกรังบ้านทรัพย์เจริญ ม.11-หนองเลิงเปือย ซึ่งระบุในใบฎีกาเบิกเงินอีกหนึ่งโครงการ แต่ตรวจสอบแล้วเป็นการซ่อมแซมทับซ้อนกับการซ่อมแซมของ อบจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งยังไม่ทราบว่ามีการนำหินลูกรังมาซ่อมจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีถนนลูกรังอีกหลายสายมีการตั้งงบประมาณซ่อมแซมบ่อยครั้งในแต่ละปี โดยเฉพาะถนนบ้านนาเรียง ม.9-บ้านโนนเสียว ม.6 มีการใช้งบประมาณซ่อมปีเดียวถึง 3 ครั้ง ระยะห่างกันเพียง 2-3 เดือน และดำเนินการซ่อมในช่วงหน้าแล้ง

นายทองสุขกล่าวอีกว่า เท่าที่ตรวจสอบยังพบว่าโครงการซ่อมแซมถนนทั้งหมดทาง อบต.สามัคคีไม่ได้ทำประกันสัญญาจ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งทำเสร็จก็ปล่อยทิ้งเลย ถือเป็นการเจตนาเลี่ยงระเบียบกฎหมายและจงใจเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมา โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นทั้งหมดเชื่อได้ว่าการซ่อมแซมถนนลูกรังทั้งปี 2558-2559 เจตนาส่อไปในทางทุจริตอย่างชัดเจน ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องระดับใดบ้าง จะเป็นระดับเจ้าหน้าที่หรือระดับผู้บริหาร

ดังนั้น ป.ป.ท.จะรวบรวมหลักฐานและเอกสารทั้งหมดรายงานไปยังเลขาธิการ ป.ป.ท.พิจารณา และส่งเรื่องไปยังปปช.ต่อไป ส่วนโครงการซ่อมแซมถนนลูกรังตั้งแต่ปี 2552-2557 ที่ยังเหลือเจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีการตรวจสอบย้อนหลังทุกโครงการเช่นกัน

ด้านนายยุระ บุตรกัณหา นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบงานจัดซื้อจัดจ้าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังตรวจพบว่า อบต.สามัคคีน่าจะมีการตั้งค่าประมาณการ หรือค่าซื้อหินลูกรังแพงกว่าท้องตลาดมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์หลายโครงการ ถนนบางสายยังมีการไปซ่อมทับซ้อนกับถนนลูกรังที่ อบจ.กาฬสินธุ์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบอีกด้วย ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องพื้นที่สืบข้อเท็จจริงทั้งการสุ่มถามประชาชนในพื้นที่ และส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรตรวจสอบราคาหินลูกรังตามท้องตลาดในแต่ละปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบใบฎีกาเบิกเงินซ่อมแซมลูกรังตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 40 โครงการ และเชิญตัวนายก อบต.และปลัดเข้ามาชี้แจงใบฎีกาเบิกเงินทุกใบ


กำลังโหลดความคิดเห็น