รอเปิดผลวิเคราะห์ “เด็กหัวเล็ก” 3 ราย เกิดจากซิกาหรือไม่ หมอจุฬาฯ แนะป้องกันยุงดีสุดสำหรับหญิงท้อง ฝาก อย. ประกาศยี่ห้อที่หญิงท้องใช้ได้ ป้องกันได้นานกี่ชั่วโมง
ความคืบหน้าการพบเด็กทารกแรกเกิดศีรษะเล็ก 3 ราย และเด็กในครรภ์อายุ 36 สัปดาห์ อีก 1 ราย ที่เสี่ยงคลอดออกมามีศีรษะเล็ก โดยอยู่ระหว่างการวิเคราะห์สาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่นั้น
วันนี้ (26 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจยืนยันผล ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะเรื่องศีรษะเล็กพบได้ทุกประเทศ ส่วนประเทศไทยก็มีมาตลอด แต่เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ใช่จากเชื้อไวรัสซิกาอย่างเดียว และอัตราการเกิดต่ำกว่าประเทศแถบอเมริกา 10 เท่า ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพราะแม้ว่าจะสามารถกระตุ้นพัฒนาการของเด็กศีรษะเล็กได้ แต่ไม่ดีเท่ากับการป้องกัน ซึ่งการอาศัยหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ ประชาชนต้องช่วยกันด้วย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ได้ทำการตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัส (RNA) ในแม่ และตรวจหาภูมิคุ้มกันขั้นต้นที่จำเพาะต่อการติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง (IGM) ในเด็ก ซึ่งทราบผลและส่งไปให้กับกระทรวงสาธารณสุขทราบแล้ว ส่วนตัวไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะตนเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกรมควบคุมโรค ซึ่งกำลังจะมีการวิเคราะห์เรื่องนี้โดยใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของจุฬาฯ ร่วมกับผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแหล่งอื่น ๆ ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขณะนี้คือเร่งออกเกณฑ์การตรวจความพิการแต่กำเนิดของสูติแพทย์ที่ชัดเจน ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กศีรษะเล็ก แต่เป็นความพิการในทุกกรณี นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า ไทยมีเชื้อซิกา วิธีป้องกันตัวเองคือ ไม่ให้ถูกยุงกัดจึงดีที่สุดของหญิงตั้งครรภ์ และสิ่งที่จะช่วยได้ คือ ยากันยุง จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้มงวดเรื่องยากันยุง และระบุเลยว่ายี่ห้อไหนหญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ และป้องกันยุงได้นานกี่ชั่วโมง และสูตรตะไคร้หอมก็ต้องบอกให้ชัดว่าต้องใช้ความเข้มข้นขนาดไหนถึงจะป้องกันยุงและปลอดภัยกับเด็กและหญิงตั้งครรภ์
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่