xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่เผยยอดรวมผู้ป่วยไข้เลือดออกมีกว่า 3,500 ราย-กำชับเข้มกำจัดยุงลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเชียงใหม่ยอดรวมกว่า 3,500 รายแล้ว ขณะที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังเท่าเดิมอยู่ที่ 11 ราย ย้ำมาตรการเข้มงวดกำจัดลูกน้ำและยุงลาย พร้อมแนะประชาชนป้องกันตัวไม่ให้ถูกยุงกัดเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค

วันนี้ (13 ก.ย. 59) นายแพทย์ วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม-11 กันยายน 2559 จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนทั้งสิ้น 3,537ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 25-34 ปี รองลงมาคืออายุ 15-24 ปี และอายุ 35-44 ปี ตามลําดับ ทั้งนี้ อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอเมือง, อำเภอแม่แตง, อำเภอสันทราย, อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอแม่ริม

ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของจังหวัดเชียงใหม่จนถึงล่าสุดวันนี้(13 ก.ย. 59) จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาจำนวนทั้งหมด 12 ราย เป็นบุคคลทั่วไป 9 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3 ราย ซึ่งรายล่าสุดทราบผลตรวจช่วงเย็นวานนี้

จากการทำการตรวจคัดกรองโรคในผู้ป่วยที่มีอาการตามเกณฑ์ และหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 59 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำนวนรวมทั้งสิ้น 609 ราย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยทั้งหมดอาการหายเป็นปกติแล้ว และผู้ป่วยที่พบทั้งหมดยังคงจำกัดพื้นที่อยู่ในบางตำบลของอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนกรณีพบเด็กหญิงหัวเล็ก ลำตัวแคระแกร็น ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่นั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบ พบว่าเด็กรายดังกล่าวมีภาวะศีรษะเล็กจากความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นโรคเซกเคลซินโดรม (Seckel syndrome) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสซิกา

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ทั้งโรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค ทั้งนี้การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การกำจัดลูกน้ำและยุงลาย จึงขอให้ประชาชนถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่อยู่ในบ้านเรือน ที่ทำงาน ที่สาธารณะต่างๆ เช่น โรงเรียน, โรงเรือน, ศาสนสถาน, โรงธรรม หรือโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อตัดวงจรชีวิตของยุงลาย

ขณะเดียวกันป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง สวมเสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆ ปกคลุมผิวหนังและร่างกาย อยู่ในบ้านที่มีมุ้งลวดหรือนอนในมุ้ง ในหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้ทายากันยุงที่ทำจากสมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนั้น ทารกที่คลอดไม่ได้มีศีรษะเล็กแต่กำเนิดทุกราย จึงไม่ควรกังวลมากเกินไป อย่างไรก็ตามควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการดูแลติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 0-5321-1048-50 ต่อ 111

กำลังโหลดความคิดเห็น