xs
xsm
sm
md
lg

แอปฯ “Fast Track” ช่วยเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เข้าถึงตัวผู้ป่วยได้ไว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมการแพทย์ร่วม สพฉ. และคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เปิดตัวแอปพลิเคชัน “Fast Track” ช่วยเรียกรถพยาบาลได้ไว เข้าถึงตัวผู้ป่วยฉุกเฉินรวดเร็ว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต

วันนี้ (23 ก.ย.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า หัวหน้าสาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน “Fast Track ทางด่วนชีวิตเรียกรถพยาบาล” ช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองให้ถึงหมอเร็ว รักษาได้ทัน

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย จากสถิติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ. ปี 2557 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 58,681 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน อัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 90.34 ต่อแสนประชากร โดยเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด 18,079 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน อัตราการเสียชีวิต 27.83 ต่อแสนประชากร การรักษาต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 30 นาที ก่อนทำการบอลลูนหัวใจภายใน 90 นาที ส่วนของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 2 แสนรายต่อปี ความชุกร้อยละ 1.88 ในกลุ่มอายุ 45 - 80 ปี อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 38.7 ต่อแสนประชากร การรักษาต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4.5 ชั่วโมง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและพิการ กรมฯ จึงร่วมกับ สพฉ. และคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น พัฒนาแอปพลิเคชัน Fast Track ทางด่วนชีวิตเรียกรถพยาบาล ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการเข้ารับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว

รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนแทนการ โทร. 1669 โดยเมื่อมีการติดตั้งไว้ที่โทรศัพท์มือถือเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการลงทะเบียนเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ข้อมูลสุขภาพต่าง ๆ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อเจ้าตัว และญาติ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกและเก็บเป็นความลับอย่างดี เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุฉุกเฉิน และเรียกรถพยาบาลผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และ สพฉ. จากส่วนกลางจะทราบตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยได้ และเข้าช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็จะโทรศัพท์กลับไปหาเจ้าของเครื่องทันที หากเจ้าตัวไม่สามารถรับได้ก็จะโทรศัพท์ไปหาญาติตามข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และอยู่ระหว่างการรับตัวเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลใกล้เคียง หรือในกรณีหากเจ้าหน้าที่พื้นที่ยังไม่ติดต่อไป เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางที่คอยติดตามอยู่ก็จะประสานสั่งการให้เข้าพื้นที่อย่างรวดเร็วเช่นกัน เบื้องต้นกำหนดเข้าพื้นที่เกิดเหตุประมาณ 8 นาที ทั้งนี้ แอปฯ ดังกล่าวจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หากอยู่ในที่อับสัญญาณแล้วมีผู้ป่วยฉุกเฉินในโรคดังกล่าวขอให้นำผู้ป่วยนอนตะแคง นิ่ง ๆ และรีบนำส่งโรงพยาบาลเองให้เร็วที่สุด

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันเรียกรถพยาบาลจะมีการเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน EMS 1669 อยู่แล้ว ซึ่ง สพฉ. ได้จัดวางระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีความพร้อมทั้งรถพยาบาลและทีมแพทย์ฉุกเฉินในการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง




ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น