xs
xsm
sm
md
lg

ชวนส่งกำลังใจผ่านเฟซบุ๊ก “ร้องดวงใจ สู่คนหัวใจหิน” เพิ่มแรงใจเลิกเหล้าครบพรรษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โค้งสุดท้ายงดเหล้าเข้าพรรษา สสส. ระดมพลังจิตอาสา ส่งกำลังใจผ่านเฟซบุ๊ก “ร้องดวงใจ สู่คนหัวใจหิน” ช่วยคนงดเหล้าให้ได้ครบตลอดพรรษา เตรียมนำรายชื่อผู้ปฏิญาณตนทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล ผลวิจัยชี้สร้างกำลังใจ ช่วยคนเลิกเหล้าได้สำเร็จมากที่สุด

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวกิจกรรม “ร้อยดวงใจสู่คนหัวใจหิน” ว่า จากสถิติปีที่ผ่านมา พบว่า ในจำนวนผู้ที่ดื่มเหล้าทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 17 ล้านคน มีผู้เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาประมาณ 12.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 72 ของคนดื่มทั้งประเทศ ในกลุ่มคนที่เข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษานี้ มีคนงดเหล้าตลอดเทศกาลร้อยละ 32 (5.44 ล้านคน) สามารถงดเป็นบางช่วง (ไม่ครบพรรษา) ร้อยละ 24 (4.1 ล้านคน) ไม่ได้งดแต่ลดการดื่มลง ร้อยละ 16 (2.7 ล้านคน) สำหรับแนวโน้มของคนที่ไม่ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา ให้เหตุผล 3 อันดับแรก คือ มีคนชวนดื่มขัดไม่ได้ ชอบเที่ยวสังสรรค์ และดื่มเป็นประจํา ซึ่งผลการวิจัยส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่สามารถเลิกดื่มสุราได้อย่างถาวรต้องมีความตั้งใจ แน่วแน่ ที่สำคัญ คือ หากมีกำลังใจและสร้างการยอมรับจากครอบครัว ชุมชน จะช่วยให้ผู้เลิกดื่มสุรารู้สึกมีคุณค่า และเชื่อมั่นว่า ตนเองจะสามารถเลิกดื่มสุราได้ ด้านสถิติของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในปีที่ผ่านมา พบว่า ก่อนที่ผู้ดื่มเหล้าจะตัดสินใจงดเหล้าเข้าพรรษา หรือเลิกเหล้าไปตลอดชีวิต ส่วนใหญ่มีปัจจัยมาจากประเด็นด้านสุขภาพร้อยละ 59.5 รองลงมาคือ ตัวเอง ร้อยละ 57.2 และ ร้อยละ 42.8 คือ ครอบครัว เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจในการงดดื่มหลังช่วงออกพรรษา ร้อยละ 42.2 ระบุว่า จะกลับมาดื่มอีกเฉลี่ยภายใน 15 วัน ขณะที่ร้อยละ 66.7 จะงด / ลดปริมาณการดื่มให้น้อยลง และร้อยละ 7.3 ระบุว่า เลิกเลย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.7 ระบุว่า จะงดอีกในปีต่อไป

“โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นการรณรงค์สาธารณะที่มีอัตราการรับรู้ และการจดจำได้สูง เพราะมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติพฤติกรรมของคนในสังคม สำหรับประเด็นรณรงค์ “เข้าพรรษาได้เวลาพักตับ” ในช่วงโค้งสุดท้ายของการงดเหล้าเข้าพรรษา สสส. และเครือข่ายงดเหล้า จึงมีแนวคิดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ รวมถึงการให้ความสำคัญกับผู้ที่กำลังใช้ความพยายามต่อสู้กับสิ่งเร้ารอบตัว เพื่อชวนให้ผู้ที่ปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา มีกำลังใจเพื่องดเหล้าได้ต่อเนื่องตลอดจนครบพรรษา” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาติดต่อกันมาหลายปีมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย ว่า ช่วยให้คนไทยประหยัดเงินไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญกว่า คือ ทำให้ครอบครัวคนไทยช่วงเข้าพรรษามีความสุขมากที่สุด เพราะเป็นการคืนเวลาในวงเหล้า และเงินค่าเหล้ามาให้ครอบครัวจากเดิมมี 10 พื้นที่แหล่งเรียนรู้และเกิดเป็น 677 ชุมชนรูปธรรม มีการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า ในปีนี้ได้ขยายพื้นที่ผ่านกระบวนการทางนโยบาย ทำงานร่วมกับนายอำเภอนักรณรงค์อีก 142 อำเภอ เพื่อจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชู “คนหัวใจหิน” ซึ่งเป็นผู้ที่งดเหล้าได้ครบพรรษา สิ่งที่เครือข่ายงดเหล้าได้เน้นย้ำ คือ สังคมต้องไม่ประณามผู้ดื่มเหล้าว่าเป็นคนไม่ดี และในช่วงเข้าพรรษานี้เป็นการให้โอกาสผู้ที่ดื่มเหล้า ให้มีกำลังใจงดเหล้าเพื่อตนเอง ที่สำคัญคือกำลังใจที่ช่วยให้คนงดเหล้าได้สำเร็จ

“วิธีการเสริมสร้างกำลังใจและเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กำลังจะจัดขึ้น คือ “กิจกรรมร้อยดวงใจ สู่คนหัวใจหิน” เป็นการเชิญชวนประชาชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งกำลังใจให้คนงดเหล้าครบพรรษา 3 เดือน โดยการเย็บหัวใจ และถ่ายภาพส่งมาที่เพจเฟซบุ๊ก “ร้อยดวงใจสู่คนหัวใจหิน” พร้อมกับติดแฮชแท็ก “ร้อยดวงใจสู่คนหัวใจหิน” และ “’งดเหล้าเข้าพรรษา” เพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งมอบกำลังใจ ทั้งนี้ หน่วยงาน / องค์กร และผู้ที่สนใจ ติดต่อขอรับอุปกรณ์เพื่อส่งร้อยหัวใจไปสู่คนหัวใจหินโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อเสร็จจากกิจกรรมในช่วงเข้าพรรษาแล้ว จะมีกิจกรรมต่อยอด คือ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้ร่วมกิจกรรมงดเหล้าครบพรรษาได้สำเร็จในปีนี้ และตั้งใจน้อมนำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถลงชื่อ ที่อยู่รูปถ่าย แรงบันดาลใจ ในเพจ “ร้อยดวงใจสู่คนหัวใจหิน” และสำหรับผู้ที่งดเหล้าครบพรรษาในพื้นที่โครงการ 142 อำเภอ รวมถึงชุมชนคนสู้เหล้าทั่วประเทศ 667 แห่ง จะจัดทำเป็นใบลงทะเบียนรายชื่อและมีการลงนามโดยผู้รับรอง โดยจะนำรายชื่อเพื่อทูลเกล้าฯถวาย ในโอกาสต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-9483300” เภสัชกร สงกรานต์ กล่าว

ด้าน นายแปว กลิ่นกระโทก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 ต.โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นปีที่ 2 บอกว่า ผมมีแรงบันดาลใจในการงดเหล้า เพื่ออยากให้สุขภาพแข็งแรง เชื่อว่า การงดเหล้าให้ได้ครบพรรษา เป็นการทำความดีถวายในหลวง บางครั้งเวลาที่เพื่อนยื่นแก้วเหล้าให้ทั้ง ๆ ที่ผมอยู่ในช่วงงดเหล้าอยู่ ก็จะใช้เทคนิค คือ การซื่อสัตย์กับตัวเอง ว่า ผมกำลังตั้งใจทำดี อย่าให้ความดีนั้นสูญเปล่า เลยเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้งดเหล้าได้สำเร็จ และขอให้กำลังใจคนที่กำลังงดเหล้าเข้าพรรษาอยู่ในตอนนี้ ว่า อยากชวนทุกคนให้ตั้งปณิธานแก่ตัวเอง ตั้งใจว่าต้องทำให้ได้ ใช้แรงบันดาลอะไรสักอย่างมาเป็นจุดยืน มาเป็นแรงจูงใจ แล้วจะทำสำเร็จ ซึ่งสิ่งที่เราจะได้รับโดยตรงอย่างแรก คือ การมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

นายณรงค์ ทองสุข อายุ 53 ปี พนักงานบริษัท เบทาโกร จำกัด โรงงาน 4 จ.ลพบุรี เป็นบุคคลที่ดื่มเหล้าหนักมาก แต่เข้าพรรษาปีนี้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากลดปริมาณการดื่มเหล้าของตนเอง บอกว่า เมื่อก่อนผมดื่มเหล้าขาววันละ 2 ขวด ไปทำงานก็พกใส่ขวดเล็ก ๆ ไว้จิบทั้งวัน แม้กระทั่งก่อนนอน หนักเข้าปัญหาด้านสุขภาพเริ่มเกิดขึ้นกับตนเอง ทานข้าวไม่ได้ ตัวสั่นมือสั่น เดินไม่ได้จึงได้รับการชักชวนจาก “กลุ่มสุขภาพ” ของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยงดเหล้าได้แล้วให้มาลองงดเหล้าเข้าพรรษาดู แต่ด้วยเหตุที่ผมเป็นคนดื่มเหล้าหนักมาก ทำให้ไม่สามารถหักดิบ หรืองดเหล้าได้เหมือนคนทั่วไป ทางกลุ่มเสนอให้ใช้วิธีลดปริมาณการดื่มลงเรื่อย ๆ และตอนนี้ผมทำได้แล้ว ไม่กลับไปดื่มอีกเลย ต้องขอบคุณกลุ่มสุขภาพและเพื่อน ๆ ในโรงงานที่ทำให้ผมเลิกเหล้าได้ ภรรยาให้เงินมาทำงานวันละ 120 บาท ผมก็มีเงินเก็บติดกระเป๋าประมาณ 1,500 บาท ด้วยเวลา 32 วัน อยากบอกว่าช่วง 7 - 15 วันแรก สำหรับคนที่ดื่มเหล้าหนักแบบผมนั้น ต้องใช้ความพยายามและความอดทนสูง ที่สำคัญต้องมีใจเชื่อมั่นว่าเราทำได้ พอผ่านตรงนี้มาได้ผมก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองมากเพราะกำลังใจทำให้มีแรงสู้ เชื่อว่า ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้าเราอยากเลิก หัวใจเราก็ต้องฟัง เราต้องไม่โกหกตัวเอง

นายจำรัส กลิ่นอุบล อายุ 54 ปี ผู้นำชุมชนลาดพร้าว 45 กทม. บอกว่า การจะเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีได้ ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน เพราะชุมชนก็เหมือนครอบครัว หากหัวหน้าครอบครัวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แล้วลูกบ้านจะเคารพศรัทธาเชื่อมั่นได้อย่างไร ที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเยาวชนในชุมชนกลุ่มใหญ่ ตกอยู่ในสภาพติดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด เป็นแหล่งมั่วสุม ซึ่งการจะแก้ปัญหาเยาวชนได้ นอกจากให้โอกาสและหากิจกรรมให้ทำแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ ตัวผู้นำชุมชนก็ต้องทำตัวเองเป็นแบบอย่างเช่นกัน เลยตัดสินใจนำตนเองและชุมชนเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2557 จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ต้องเชื่อมสัมพันธ์กับคนหลายกลุ่ม มีการดื่มแบบสังสรรค์อยู่ประจำ ทำให้ช่วงการเข้าโครงการ 2 ปีแรก ทำไม่สำเร็จ เพราะเกรงใจเพื่อน ที่บ้านผมเป็นที่ตั้งวงเหล้า และยังเป็นร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในปีนี้ได้มีโอกาสเป็นผู้นำประกาศเจตนารมณ์ในการงดเหล้าเข้าพรรษาทีวัดไตรมิตร จึงกลับมาบอกกับครอบครัว เพื่อนฝูง อีกครั้ง ว่า เราตั้งใจงดเหล้าเข้าพรรษา ประกอบกับการทำงานช่วงนี้ไม่ได้มีโอกาสสังสรรค์เหมือนก่อน จึงทำให้สามารถงดเหล้าได้ต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ อยากฝากถึงเพื่อน ๆ ผู้นำชุมชนต่าง ๆ ที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงสังคม ว่า ถ้าเราคิดจะให้โอกาสคนอื่น เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเขา เราก็ต้องให้โอกาสตัวเราที่จะเปลี่ยนแปลงด้วย


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น