xs
xsm
sm
md
lg

“6 งด” เพื่อลูกในช่วงเข้าพรรษา /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

งดเหล้าเข้าพรรษา !
การรณรงค์เช่นนี้ได้ยินกันมาจนคุ้นชินกันแล้ว น่าคิดเหมือนกันว่า นอกจากงดเหล้าแล้ว เราควรงดอะไรอีกหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะพ่อแม่ที่มีลูก ควรจะงดอะไรอย่างอื่นอีกหรือไม่เพื่อลูก ?

ถึงช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาทีไร เราจะพบเห็นงานประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ ๆ มากมาย ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ก็จะไปเที่ยวเยี่ยมชมกิจกรรมของแต่และท้องถิ่นที่มีงานบุญ หรือไม่ผู้คนก็จะออกไปทำบุญใส่บาตร เวียนเทียน และกิจกรรมทางพุทธศาสนา แล้วแต่ว่าใครสะดวกที่จะไปร่วมกิจกรรมที่ไหน

แต่สิ่งหนึ่งที่ระยะหลังช่วงวันเข้าพรรษากลายเป็นกิมมิก (Gimmick) บางอย่างที่บรรดาผู้ประกอบการหรือผู้ที่ต้องการจัดกิจกรรมจะใช้ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาประกาศกิจกรรม หรือใช้เป็นดีเดย์ในการทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวเองและคนที่เรารัก

รวมไปถึงกิจกรรมดี ๆ ที่บรรดาองค์กรหลายองค์กรถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการรณรงค์กิจกรรมช่วงเข้าพรรษา เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น

ล่าสุด ดิฉันไปร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการงานแถลงข่าวและสัมมนาในหัวข้อ “เข้าพรรษานี้...ตักบาตรถาม (สุขภาพ) พระ” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่โรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต้องการรณรงค์ให้บรรดาผู้คนที่ทำบุญใส่บาตรโปรดคิดให้ดีเสียก่อนว่าจะเลือกอาหารชนิดใดใส่บาตรให้พระสงฆ์

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สุขภาพพระสงฆ์ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2558 พบว่า โรคที่พระสงฆ์ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. โรคเมตาบอลิซึม และไขมันในเลือดผิดปกติ 2. โรคความดันโลหิตสูง 3. โรคเบาหวาน 4. โรคไตวาย หรือไตล้มเหลว และ 5. โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน อันเนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารที่ฆราวาสถวายได้

และเนื่องจากกว่า 90% ของฆราวาสที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่ นิยมซื้ออาหารชุดใส่บาตรให้พระ พบว่า อาหารยอดนิยมส่วนใหญ่ คือ แกงเขียวหวาน พะโล้ ผัดกะเพรา และของทอด เพราะเป็นอาหารที่มีรูปลักษณ์น่ารับประทาน หน้าตาไม่เปลี่ยนมาก หากทำทิ้งไว้เป็นเวลานาน แต่ชุดอาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ไทย โดยพบความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน โรคกระเพาะอาหารและกระดูกพรุน เนื่องจากอาหารที่ถวายพระส่วนใหญ่ มีโปรตีนน้อย ผักน้อย มีรสจัด และไขมันสูง

นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการจะรณรงค์ให้ฆราวาสตระหนักถึงเรื่องการใส่บาตรที่ควรจะพิจารณาถึงสุขภาพของพระสงฆ์ด้วย อย่าเอาความสะดวกของตัวเองอย่างเดียว

คือ ให้งดใส่บาตรด้วยอาหารที่จะทำให้เกิดโรค - ว่างั้นเถอะ !

ว่าแล้วดิฉันก็เลยอยากจะถือโอกาสนี้ในการรณรงค์ช่วงเข้าพรรษาบ้าง

อยากให้คนเป็นพ่อแม่น่าจะถือโอกาสนี้ในการปรับปรุงพฤติกรรมบางอย่างในช่วง 3 เดือนนี้ซะเลย ก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อลูกแล้ว ยังเป็นการฝึกธรรมะเพื่อตัวเองอีกด้วย

ชวนพ่อแม่งดเพื่อลูกในช่วงเข้าพรรษา เอาแค่งดหรือการใช้ “คำพูด” เรื่องเดียวให้ได้ช่วง 3 เดือนนี้ก็น่าจะดีไม่น้อย

หนึ่ง งดบ่น

สอง งดดุด่าว่ากล่าว
สาม งดใช้คำไม่สุภาพ หรือหยาบคาย
สี่ งดรับปากแบบขอไปที
ห้า งดพูดปด
หก งดพูดประชดประชัน หรือกระแนะกระแหน

ปัจจุบันปัญหาเรื่องการสื่อสารในครอบครัวมีความสำคัญมาก เพราะครอบครัวไหนที่สื่อสารได้ดี มักมีปัญหาน้อยมาก แต่ถ้าครอบครัวไหนมีปัญหาเรื่องการสื่อสารภายใน จะเกิดปัญหาตามมามากมาย

ยิ่งมีเรื่องของเจ้าเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่การสื่อสารระหว่างกัน ยิ่งทำให้ปัจจุบันนี้เกิดปัญหาการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัว ทำให้เปราะบางหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้าบ้านไหนมีความใกล้ชิดและสื่อสารกันมาโดยตลอดตั้งแต่เล็ก ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหา แต่จะน้อยกว่าบ้านที่ไม่ค่อยได้สื่อสารแบบเข้าอกเข้าใจกันมาก่อน ยิ่งบ้านไหนมีลูกอยู่ในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยรุ่น การสื่อสารภายในบ้านยิ่งมีความเปราะบางมากขึ้นไปอีก

การสื่อสารของพ่อแม่จะเป็นตัวกำหนดว่าลูกจะเข้าใกล้เรา หรืออยากออกห่างก็ด้วยคำพูด และท่าทีของพ่อแม่ ลองสำรวจดูว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องปรับปรุงด่วน และถือโอกาสในช่วงเข้าพรรษาซะเลยในการจัดการปรับปรุงตัวเอง

สิ่งสำคัญของการสื่อสารระหว่างกัน คือ การใช้ปิยวาจาในการสื่อสารในครอบครัว ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ แต่ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าต้องใช้วาจาที่ดี หลีกเลี่ยงการใช้คำพูด หรือการกระทำที่เป็นชนวนของความขัดแย้ง
รวมถึงต้องไม่ใช้อำนาจในครอบครัว หรือมีทัศนคติว่าเพราะฉันเป็นพ่อแม่ ฉะนั้นฉันต้องถูกเท่านั้น

ภาษาพูดและภาษากายสำคัญสำหรับลูกมากว่าเขาอยากอยู่ใกล้หรือถอยห่างจากเรา !

ใช้คำพูดประกอบ “6 งด” กับลูกได้ ชีวิตครอบครัวดีขึ้นแน่
 

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น