“วู้ดดี้” ฝันสลาย!! ทำอุ้มบุญในไทยไม่ได้ สบส. ระบุชัด ต้องเป็น “สามี - ภรรยา” ที่ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายไทยยังไม่ครอบคลุมคู่รักชาย - ชาย แจง “น้องสะใภ้” รับเป็นแม่อุ้มบุญได้ หากเป็นคู่สามีภรรยาถูกกฎหมาย ชี้ ต้องขออนุญาต คทพ. ก่อนทำอุ้มบุญ เผย อนุญาตให้ทำแล้ว 57 คู่
หลังจาก วู้ดดี้ - วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรชื่อดัง พร้อมแฟนหนุ่ม “โอ๊ต อัครพล จับจิตใจดล” ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมที่จะทำการอุ้มบุญ โดยครั้งแรกจะให้พิธีกรสาว “กาละแมร์ พชัรศรี เบญจมาศ” เป็นแม่อุ้มบุญ โดย ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมายืนยันว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมาย และสาวกาละแมร์ไม่เคยผ่านการมีลูกมาก่อน ล่าสุด วู้ดดี้ ระบุว่า “น้องสะใภ้” เป็นบุคคลที่อาสาจะเป็นผู้ตั้งครรภ์แทน
วันนี้ (21 ก.ย.) ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายืนยันแล้วว่า วู้ดดี้ และแฟนหนุ่มโอ๊ต ไม่สามารถทำการอุ้มบุญได้ โดยระบุว่า ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ประสงค์ร้องขอให้มีการตั้งครรภ์แทนนั้น จะต้องเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ ซึ่งสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การจดทะเบียนสมรส แต่ประเทศไทยยังกำหนดเฉพาะชายและหญิง ไม่ครอบคลุมคู่รักชายรักชาย แม้จะแต่งงานกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่ถือเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือทำอุ้มบุญได้ในประเทศไทย
ทพ.อาคม กล่าวว่า ส่วนสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายและประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน ต้องยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (คทพ.) ซึ่งผู้ยื่นขออนุญาตนั้น กฎหมายกำหนดว่าจะต้องเป็นผู้ให้บริการ คือ แพทย์ แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ได้ดำเนินการยื่นขออนุญาตด้วยตัวเอง จะมอบหมายให้ตัวแทน จึงอาจเป็นได้ว่าสามีภรรยาที่ต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ยื่นขออนุญาตเอง แต่จะต้องมีหนังสือมอบหมายจากแพทย์ที่จะให้บริการ สามีภรรยาไม่สามารถยื่นขออนุญาตเองโดยไม่มีหนังสือจากแพทย์ ซึ่งปัจจุบัน คทพ. อนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนแล้ว 57 ราย และมีอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องพิจารณาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ทั้งเอกสารเกี่ยวกับสุขภาพ และเอกสารรับรองภาวะที่ภรรยาไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ เช่น หนังสือรับรองการผ่าตัดมดลูก การเป็นเนื้องอกที่มดลูก หรือการเป็นมะเร็งที่มดลูก
“ส่วนหญิงที่จะตั้งครรภ์แทน จะต้องไม่เป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภรรยาที่ต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทน และหากมีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภรรยาที่สามารถตั้งครรภ์แทนได้จะพิจารณาจากตรงนี้ก่อน หากพบว่าไม่มีตรงนี้จึงจะพิจารณาให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ ซึ่งหากเป็นน้องสะใภ้ก็สามารถตั้งครรภ์แทนได้ แต่จะต้องเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดด้วย เช่น มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ และเคยมีบุตรมาแล้วโดยการคลอดตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีที่ผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง และเป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภรรยา เป็นต้น” ทพ.อาคม กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่