ครบ 100 ปีชาตกาล “อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือ 8 องค์กรร่วมจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ตามแนวคิด “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” สืบสานปณิธานที่ อ.ป๋วย มุ่งหวังจะให้คนในสังคมมีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิต ได้รับสวัสดิการสังคมที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี โดยจะเปิดรับสมัครองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดองค์กร/กองทุนฯ ที่มีผลงานดีเด่นด้านการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีเด่น 9 ประเภท ตั้งแต่ 16 กันยายนนี้ และมอบรางวัลเดือนมีนาคม 2560
ที่ห้องประชุมวรรณไวทยากร อาคารโดม ชั้น 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการแถลงข่าว โครงการประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ “ ประจำปี 2560 โดย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ประธานสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนองค์กรที่ร่วมจัด คือ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), พอช., มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมแถลง เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2560 เป็นการจัดประกวดปีที่ 2 โดยจะเปิดรับสมัครองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศที่มีผลงานดีเด่นด้านการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดประเภทของรางวัลโดยนำแนวคิด “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”ของอาจารย์จารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาพิจารณาร่วมกับลักษณะของระบบสวัสดิการชุมชน โดยกำหนดประเภทของรางวัลในปีนี้ จำนวน 9 ประเภท คือ
1. ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตและคุณค่าในสังคม 2. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาดูแล ป้องกัน สุขภาวะในชุมชน 3. ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ 4. ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน 5.ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะ การจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ
6. ด้านการจัดการที่ดิน/จัดสรรที่ดินทำกิน การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและที่อยู่อาศัย 7. ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล 8. ด้านผลงานการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวม หลายมิติ สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายแห่งเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 9.ด้านการฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกลุ่ม หนุนช่วยเพื่อน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงาน ภาคี เครือข่ายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคม
ทั้งนี้ องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่สนใจจะสมัคร สามารถขอรับเอกสารและสมัครได้ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัด เครือข่ายองค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองท้องถิ่น ในจังหวัดนั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน - 31 ตุลาคม 2559 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.psds.tu.ac.th หรือ www.codi.or.th) หลังจากนั้นคณะกรรมการจะพิจารณากลั่นกรองทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อเฟ้นหาองค์กร/กองทุนฯ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่รางวัลในประเภทต่างๆ ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2560 และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 9 มีนาคม 2560 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
การจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” จะจัดขึ้นทุกปี โดยในปีนี้เป็นปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ 2. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ จังหวัด ภาค และประเทศ และขยายผลกองทุนฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 3. เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล ภาคเอกชน และสังคม ตระหนักถึงคุณค่าของแนวคิดเรื่อง “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และนำไปสู่การพัฒนาระบบปฏิบัติการด้านสวัสดิการให้ประชาชนเข้าถึงและเหมาะสม
สำหรับแนวคิด “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เป็นบทความภาษาอังกฤษขนาด 2 หน้า ที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอบทความชิ้นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล ในเดือนตุลาคม 2516 หลังจากนั้นจึงได้มีการแปลและเผยแพร่บทความนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เนื้อหากล่าวถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับบริการสวัสดิการจากรัฐ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนกระทั่งเสียชีวิต ดังข้อความตอนหนึ่งว่า...
“ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันรักษาโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูก อย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอ หาพยาบาลได้สะดวก ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม สามารถมีบทบาทและชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี ฯลฯ ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม....เรื่องที่ผมเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัว ผมต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ...”
ศาสตราจารย์ป๋วย เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2459 เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2502-2514) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2517-2519) ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ สมถะ มีผลงานด้านการบริหารที่โดดเด่นหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน การคลัง งานวิชาการ ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะในปี 2508 เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย รวมทั้งโครงการพัฒนาชนบทอื่นๆ ท่านเสียชีวิตเมื่อ 28 กรกฎาคม 2542 รวมอายุได้ 83 ปี นอกจากนี้ ในปี 2558 องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลของป๋วย อึ๊งภากรณ์
แม้ว่า อ.ป๋วยจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่แนวคิดของท่านเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะประชาชนคนยากจนที่ไม่มีระบบสวัสดิการของรัฐมารองรับ ได้ถูกนำมาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่เกิดจนถึงตาย โดยมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการอย่างเป็นระบบในปี 2547 ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีหลักการให้สมาชิกสมทบอย่างน้อยวันละ 1 บาท โดยรัฐจะสมทบ 1 บาท และองค์กรปกครองท้องถิ่นสมทบ 1 บาท แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก เช่น คลอดบุตร 500 บาท, เจ็บป่วยช่วยค่ารถหรือรักษาพยาบาลครั้งละ 100 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 วัน, เสียชีวิต เป็นสมาชิกครบ 6 เดือน ได้ 3,000 บาท ครบ 1 ปีได้ 5,000 บาท และครบ 3 ปีได้ 10,000 บาท และยังมีทุนการศึกษาเด็ก ช่วยคนพิการ คนยากไร้ ฯลฯ
ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศจำนวน 5,936 กองทุน มีสมาชิกรวม 5,380,711 ราย มีเงินกองทุนรวมกันทั้งหมด 10,692 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับสวัสดิการไปแล้ว 1,496,449 ราย เงินจ่ายสวัสดิการรวม 1,717.9 ล้านบาท โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศได้ตั้งเป้าหมายขยายสมาชิกให้ครอบคลุมทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนภายในปี 2561