นพ.นริศ สมิตาสิน
อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
อาการชักและโรคลมชัก ( Seizure and Epilepsy) เกิดจากความผิดปกติในการปล่อยกระแสไฟฟ้าจากเซลล์สมอง และการนำกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ ส่งผลให้สมองส่วนนั้น ๆ และสมองส่วนใกล้เคียงถูกกระตุ้น เป็นสาเหตุนำมาซึ่งอาการชัก และอาการแสดงของผู้ป่วยนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่นำกระแสไฟฟ้าออกมาและขอบเขตของการกระจายของไฟฟ้า อาการชักนั้นเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น
1. ภาวะการติดเชื้อในสมองและเยื่อหุ้มสมอง
2. ภาวะความพิการของสมองแต่กำเนิด
3. มะเร็งและเนื้องอก
4. ภาวะเลือดออกในสมองเฉียบพลัน
5. ยาและสารกระตุ้นบางชนิด
6. สุรา
7. ภาวะโรคสมองเสื่อม
8. ภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
ซึ่งในบางรายอาจจะไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดอาการชักได้อย่างชัดเจนอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยที่มีอาการชัก แบ่งออกเป็น อาการชักแบบเฉพาะที่ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีระดับความรู้สึกตัวที่ปกติ และอาการชักจะจำกัดอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในสมอง ไม่มีการกระจายไปที่บริเวณอื่น
สำหรับอาการชักแบบทั่วไป ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีระดับความรู้สึกตัวที่ลดลงหรือไม่รู้สึกตัว มีอาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อแขน ขา หรือลำคอ ในบางกรณีอาจจะมีแค่ระดับความรู้สึกตัวที่ลดลงเพียงอย่างเดียวโดยไม่พบการเกร็งกระตุกของแขนและขาก็ได้
ซึ่งระยะเวลาของการเกิดอาการนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่จะกินเวลาประมาณ 1-5 นาที และมักจะตามมาด้วยอาการง่วงซึม หรือระดับความรู้สึกตัวไม่เป็นปกติอีกเป็นระยะเวลา 30-120 นาที ในบางรายที่ขอบเขตของการชักเป็นมาก ผู้ป่วยอาจจะใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมงในการกลับมาของระดับความรู้สึกตัว
ภาวะแทรกซ้อนที่พบในขณะที่มีอาการชักพบได้หลายอย่าง เช่น ศีรษะกระแทก บาดแผลจากการกัดลิ้น กระดูกหักจากการเกร็งของกล้ามเนื้อรุนแรง ภาวะขาดอ๊อกซิเจน นอกจากนี้ อาจจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ถ้าในขณะที่มีอาการผู้ป่วยกำลังขับรถ
การวินิจฉัยภาวะโรคลมชัก ประกอบด้วย
การซักประวัติโดยละเอียด กรณีรวมถึงประวัติการฝากครรภ์ และการคลอด ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจคลื่นสมอง ( Elelctroencephalography), และการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ( MRI)
การวินิจฉัยโรคลมชักในปัจจุบันสามารถทำได้แม่นยำมากขึ้นเนื่องจากเครื่องมือมีความละเอียดและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถบอกสาเหตุของการเกิดโรคลมชักและสามารถระบุตำแหน่งของสมองที่ส่งผลทำให้เกิดการชักได้แม่นยำส่งผลให้การรักษาโรคลมชักในปัจจุบันได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
แนวทางการรักษาประกอบด้วย การรักษาด้วยการใช้ยากันชัก ได้ผลค่อนข้างดีในการควบคุมอาการ ในรายที่ตอบสนองดีต่อการรักษาสามารถทำให้อาการชักหายไปและผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ ผลข้างเคียงของยากันชักจะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว เช่น อาการง่วงซึ่งพบได้ในช่วงต้นที่เริ่มยา ผื่นแพ้ ในบางชนิดจะส่งต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวทั้งขึ้นและลง
การรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้อสมองที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการชัก การรักษาโดยการใช้สูตรอาหารพิเศษ ( Ketogenic diet) การรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นเพื่อระงับการชัก (Vagal nerve stimulation) ซึ่งในปัจจุบันพัฒนาการของการรักษาได้ก้าวหน้าไปจากในอดีตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มยากันชักซึ่งมีตัวใหม่ ๆ และงานวิจัยออกมาค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการปรับเปลี่ยนยา และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้ง่ายมากขึ้น
การดูแลผู้ป่วยโรคลมชักไม่ได้แตกต่างไปจากการดูแลผู้ป่วยในโรคกลุ่มอื่น ๆ มากนัก เพียงแต่ต้องดูแลในเรื่องการรับประทานยาที่ต้องเคร่งครัดมาก และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ไม่ว่าจะเป็นการขาดยา อดนอน และการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะส่งผลให้ลด หรือเพิ่มระดับของยากันชักในกระแสเลือดได้
ผู้ป่วยโรคลมชักที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เว้นแต่อาจจะมีข้อห้ามเล็กน้อย เช่น ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การรับประทานสิ่งมึนเมา การนอนดึก การรับประทานยาที่นอกเหนือไปจากยากันชักโดยไม่มีความจำเป็น และสุดท้ายต้องมีวินัยในการรับประทานยาอย่างเคร่งครัด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่