กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เผย ตัวเลข 260 สถานประกอบกิจการ ที่ร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 1,000 กว่าล้าน และแรงงานได้พัฒนาทักษะ 20,000 กว่าคน
หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยในพิธีปิดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย ประจำปี 2559 ว่า ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานในระบบ SMEs (มีพนักงานจำนวน 50 - 200 คน) ให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สามารถทำงานได้มากขึ้น ในเวลาเท่าเดิม และขณะเดียวกัน ก็จะต้องลดการสูญเสียในวงจรการผลิต ลดต้นทุนการผลิตได้
โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ สถานประกอบกิจการ ที่มีพนักงานตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป แต่เน้น SMEs เป็นหลัก ในสัดส่วน 70 : 30 ซึ่งมีสถานประกอบกิจการ เข้าร่วมโครงการ จำนวน 260 แห่ง ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ธุรกิจหัตถกรรม ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ธุรกิจพลาสติกและยาง ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจเซรามิก ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวและภัตตาคาร ธุรกิจงานสร้างสรรค์และออกแบบ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจซ่อมบำรุง ธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และธุรกิจการเกษตร รวม 20 ประเภทธุรกิจ
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวสามารถลดการสูญเสียได้กว่า 1,135 ล้านบาท และมีแรงงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ จำนวน 24,862 คน นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมา เรายังได้จัดโครงการพัฒนาสมรรถนะผู้บริการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน แก่บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้บริการใน ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (ศปพ.) ที่จัดตั้งขึ้น ภายในศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) และ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) ทุกแห่ง เพื่อสามารถให้คำปรึกษาแนะนำกระบวนการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตสินค้า และบริการ พร้อมทั้งวินิจฉัยสถานประกอบกิจการที่ขอรับการช่วยเหลือ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละกระบวนงาน ให้แก่สถานประกอบกิจการที่สนใจจะเพิ่มผลิตภาพแรงงานของตนเอง
ด้าน นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ผู้บริหารสูงสุด) หนึ่งในสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย กล่าวว่า “การพัฒนาฝีมือแรงงาน จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมทุกแขนง พนักงานต้องพัฒนาฝีมือให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโดยตลอด ในส่วนของโรงงานมีปัญหาในเรื่อง พนักงานขาดความชำนาญในเทคนิคการซ่อมบำรุง ซึ่งหลังร่วมโครงการเพิ่มผลิตแรงงานไทย พนักงาน มีความรู้ ทักษะฝีมือ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ บริษัทสามารถลดต้นทุนลงได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดเก็บคลังสินค้าที่ดีขึ้น โครงการนี้ให้ประโยชน์โดยตรงกับทั้งแรงงาน และสถานประกอบกิจการ คือ ตัวแรงงานได้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ส่งผลให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น ทางสถานประกอบกิจการก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมีรายรับมากขึ้น รายรับนั้นก็จะกลับมาสู่พนักงานของเรา เช่นกัน”
“สำหรับในปีงบประมาณ 2560 กรมฯยังคงดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ SMEs จำนวน 180 แห่ง โดยในปีนี้มีเป้าหมายในการ Re-Skill แรงงานทักษะต่ำ ไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีทักษะสูง ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน โดยเน้นความรู้ STEM Workforce ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม โดยเฉพาะระบบการคิดวิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ” หม่อมหลวง ปุณฑริก กล่าวในตอนท้าย