xs
xsm
sm
md
lg

“กพร.” สานพลัง “ส.อ.ค.” ผุดโครงการประชารัฐพัฒนาแรงงานไทย 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อเร็ว ๆ นี้ หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ พัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้ “โครงการสานพลังประชารัฐเพิ่มทักษะแรงงานรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0” ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ (ชั้น 10) อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือ ว่า จากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเน้นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากยิ่งขึ้นเพื่อก้าวให้ถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าว ซึ่งระบบออโตเมชันและโรโบติกจะถูกนำมาใช้ในสายการผลิต ส่งผลให้ต้องลดกำลังแรงงานลง แต่ขณะเดียวกัน แรงงานฝีมือยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพื่อใช้ในการควบคุมเครื่องจักรและระบบกลไกต่าง ๆ ทำให้แรงงานต้องมีความกระตือรืนร้นในการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นแรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และ ทักษะสูง

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงร่วมกับสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (ส.อ.ค.) ในการดำเนิน “โครงการสานพลังงานประชารัฐเพิ่มทักษะแรงงานรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของแรงงานในสถานประกอบกิจการให้มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และทักษะฝีมือสูงขึ้นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจใจอนาคต และการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

ในระยะแรกเน้นพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เพราะนอกจากจะเป็นการยกประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ก็ยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการเป็น New Startup ริเริ่มกับอาชีพใหม่ที่สร้างความท้าทายในโลกยุคดิจิตอล จะมีการพัฒนาด้าน อี-คอมเมิร์ช อี-มาร์เก็ตเพลส ต่อยอดสร้างความได้เปรียบทางโลกธุรกิจในปัจจุบันด้วย สำหรับแนวทางความร่วมมือจะใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น วิทยากร ครูฝึกของ กพร. อาคารสถานที่ต่าง ๆ ส่งเสริมและสนับสนุนจัดการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานที่ปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีการฝึกนำร่องให้แก่แรงงานในสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และระยอง แรงงานจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการควบคุมระบบอัตโนมัติ การใช้โปรแกรม Microsoft Excel ความรู้เบื้องต้นในการออกแบบเว็บไซต์และการประกอบธุรกิจในยุคไอที เป็นต้น มีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 500 คน หลังจากนั้น จะขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น