ก.แรงงาน ร่วมภาคเอกชนพัฒนาภาษาไทยให้แรงงานต่างด้าว นำร่องจ.สมุทรสาคร ตั้งเป้า 3 หมื่นคน ในสถานประกอบการกว่า 1 พันแห่ง
วันนี้ (20 ส.ค.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนามาตรฐานด้านการใช้ภาษาเพื่อการทำงานระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน และ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ชมรมการบริหารงานบุคคลเพชรเกษม-สมุทรสาคร
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้สามารถสื่อสารกับนายจ้างชาวไทยได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับแรงงานไทยจึงควรที่จะสามารถสื่อสารกับนายจ้างได้ เหมือนกับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศก็ต้องมีความรู้ด้านภาษาพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปทำงาน ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน Happy talk ของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งจะมีการจัดทำคู่มือแจกจ่ายไปตามโรงงานต่างๆ โดยจะเริ่มนำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร เพราะมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก มีสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 1,000 แห่ง มีแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30,000 คน นอกจากนี้ จะมีการประเมินผลการดำเนินการหากพบว่าเป็นที่น่าพอใจก็จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กสร. กำลังเตรียมจัดทดสอบทักษะด้านภาษาไทยของแรงงานต่างด้าวโดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของนายจ้างและแรงงานต่างด้าว หากประเมินผลแล้วทักษะภาษาไทยต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะจัดอบรมความรู้ด้านภาษาไทยให้เพิ่มเติม คาดว่า จะจัดทดสอบได้ในปีนี้
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่