ม.เกษตรฯ แจง “น้องบอส” จมน้ำหลังกิจกรรมเฉลยสายรหัส ยันไม่ใช่การรับน้อง ไม่มีการบังคับ เผย ตัวเปื้อนฝุ่นจึงลงไปล้างตัวในบ่อน้ำพร้อมเพื่อนและรุ่นพี่ คาด อ่อนแรง เป็นตะคริวทำให้จมน้ำ ล่าสุด อาการดีขึ้น คาด ออกจาก ไอ.ซี.ยู. 13 ก.ย. ย้ำ บ่อรับน้ำฝนใช้ฝึกทดลองวิจัย ไม่อนุญาตให้ว่ายน้ำ เตรียมตั้ง กก. สืบข้อเท็จจริง
ความคืบหน้ากรณีข่าว นายโชคชัย ทองเนื้อขาว หรือ น้องบอส นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ประสบเหตุจมน้ำเมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เป็นการรับน้อง โดยให้ลงไปดำน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งภายหลังมหาวิทยาลัยชี้แจงว่า ไม่ใช่การรับน้องและเป็นเพียงบ่อรับน้ำฝน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
วันนี้ (12 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น. ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) แถลงข่าวข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ทำกิจกรรมเฉลยสายรหัส ซึ่งมีการขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย และมีอาจารย์คอยดูแล 2 คน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงที่ทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ซึ่งเด็กบางคนก็ตัวเปื้อนเพราะคลุกฝุ่นมา ก็มีไปล้างตัวกันที่บ่อรับน้ำฝนดังกล่าว ซึ่งอยู่ข้าง ๆ สนามซอฟต์บอล ซึ่งใช้ทำกิจกรรม ก็มีกลุ่มของน้องบอสที่ลงไปล้างตัวในบ่อดังกล่าวและมีการว่ายน้ำ แต่ยังไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมถึงจมน้ำได้ แต่เมื่อจมน้ำรุ่นพี่ก็ลงไปช่วยเหลือทันที และพาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อาการของน้องบอสนั้น ยังตอบสนองได้ดี อาการเริ่มดีขึ้น สามารถกำมือ จับมือถือแขนได้ตามปกติ แต่ยังสะลึมสะลือกับยาที่ช่วยให้ปอดไม่ต้องทำงานหนักมากนัก คาดว่า พรุ่งนี้จะสามารถออกจากห้อง ไอ.ซี.ยู. ได้ แต่คงต้องรอแพทย์ประเมินอาการอีกทีก่อน
“มหาวิทยาลัยยอมรับความผิดพลาด พร้อมที่จะแก้ไขและเยียวยาในสิ่งที่ทำได้ โดยเอานิสิตเป็นที่ตั้ง กลับไปทบทวนกิจกรรมที่ดำเนินการกับนิสิต และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำจะต้องมีอาจารย์ดูแลให้มากขึ้น ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนทำให้เกิดอัตรายก็จะแก้ไข แต่ ม.เกษตรฯ มีนิสิตจำนวนมาก และมีการจัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติตลอด อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ก็ต้องระมัดระวัง และจะหามาตรการลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยลง ขอย้ำว่า ม.เกษตรฯ ไม่เคยทำร้ายนิสิต พร้อมให้ข้อมูลสังคมทุกเรื่อง ไม่ปิดบัง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความผิดพลาด และแสดงความเสียใจกับผู้ปกครอง ซึ่งทางคุณพ่อของน้องบอสก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มีการพาคุณพ่อไปดูสถานที่เกิดเหตุ และพบกับนิสิตที่เกี่ยวข้อง แต่เท่าที่พูดคุยคุณพ่อและน้องบอสก็ยังคงเรียนต่อที่นี่ และพร้อมที่จะรับผิดชอบทุกเรื่องทั้งค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล การดูแลคุณพ่อ การดูแลสภาพจิตใจ” รักษาการแทนอธิการบดี กล่าว
ศ.เกียรติคุณ พลเรือโท นิรุทธิ์ หงส์ประสิทธิ์ คณบดีคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ ม.เกษตรฯ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมเฉลยสายรหัส ไม่ใช่การรับน้อง ซึ่งมองแล้วสร้างสรรค์ เป็นเรื่องการเอาใจใส่ระหว่างพี่น้อง ทำให้เกิดความสามัคคีในคณะ สาขาวิชา และไม่ได้เป็นการบังคับ ซึ่งวันนั้นมีนิสิตร่วมประมาณ 400 คน ไม่ร่วมอีกประมาณ 100 กว่าคน โดยหลังจากเสร็จกิจกรรมก็มีกลุ่มของน้องบอสประมาณ 3 คน ที่ตัวเปื้อนฝุ่น รุ่นพี่จึงให้ลงไปล้างตัวในบ่อน้ำ โดยมี น้องบอส แฝดรหัส 1 คน และรุ่นพี่ 1 คน แต่อาจเป็นเพราะอ่อนแรงจากการทำกิจกรรม และเป็นช่วงเย็นแล้ว น้ำจึงมีความเย็น อาจทำให้เป็นตะคริวจมน้ำได้ รุ่นพี่ก็ช่วยเหลือทันที และนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งวินิจฉัยว่าน้ำเข้าปอด อาจมีการติดเชื้อ จึงให้ยานอนหลับ เพื่อให้อัตราการหายใจน้อยลงไป การแพร่เชื้อจะได้น้อยลง ดังนั้น ทำให้ผู้ปกครองไปเยี่ยมจะเห็นว่าน้องไม่ค่อยรู้สึกตัวเพราะหลับ แต่ขณะนี้อาการน้องดีขึ้นตามลำดับ สามารถตอบสนองได้ แพทย์ก็ลดยาลงบางตัวและเครื่อช่วยหายใจ คาดว่า จะออกจาก ไอ.ซี.ยู. ได้ในวันที่ 13 ก.ย. นี้
“การไปล้างตัวที่บ่อน้ำดังกล่าวไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เห็นว่า อาจจะสะดวกเลยลงไปล้างตัวในนั้นก็มีทั้งกลุ่มของน้องบอส 3 คน และอีก 4 - 5 คน ที่ไปล้างแล้วขึ้นมา ส่วนที่ระบุว่า เป็นการฝึกภาคปฏิบัตินั้นไม่ใช่การลงไปฝึกปฏิบัติในน้ำ แต่เป็นการทำวิจัยทั้งเรื่องของการต่อเรือ การทำพลังงานทดแทน โซลาร์เซลล์ ความแรงของคลื่น เป็นต้น ก็ใช้บ่อน้ำดังกล่าวเป็นที่ทดลอง ซึ่งการทำวิจัยก็จะมีอาจารย์คอยดูแล และไม่อนุญาตให้เด็กลงไปว่ายน้ำเล่นแต่อย่างใด การจะเข้าไปใช้ทดลองต้องขออนุญาตทุกครั้ง” คณบดีคณะพาณิชยนาวีฯ กล่าวและว่า ที่ผ่านมา มีการตรจสอบคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และพบว่า อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ที่เห็นว่าขุ่น เพราะมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดตะกอน และเมื่อเกิดเหตุได้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำใหม่อีกครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลอยู่
ผู้สื่อข่าวถามถึงการออกคำสั่งของรุ่นพี่ในคณะพาณิชยนาวีฯ ศ.เกียรติคุณ พลเรือโท นิรุทธิ์ กล่าวว่า คณะพาณิชยนาวีฯ มี 5 สาขา ทุกสาขาล้วนต้องฝึกวินัย เพราะเมื่อจบแล้วต้องมีการปฏิบัติงานในเรือ ซึ่งมีการกดดันหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม มีเพียง 2 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์การเดินเรือ และ วิศวกรรมเครื่องกลเรือ ที่องค์กรระหว่างประเทศกำหนดให้มีการเรียนเรื่องของภาวะผู้นำและวิชาการปกครองด้วย เพื่อให้การจัดการในเรือได้ผล มีประสิทธิภาพ นิสิต 2 สาขานี้ จึงได้รับการฝึกอบรมจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นนักเรียนบังคับบัญชา ซึ่งสามารถออกคำสั่งได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน เฉพาะนิสิตที่ได้รับการคัดเลือกแล้วจากอาจารย์ เมื่อผ่านการฝึกก็จะส่งนิสิตเหล่านี้มาฝึกรุ่นน้องต่อไป และก็เป็นนิสิตที่เรียนบังคับบัญชาที่ช่วยสอดส่องเรื่องของการรับน้อง ทำให้ยืนยันได้ว่าคณะไม่มีการรับน้องแน่นอน
เมื่อถามว่า การเฉลยสายรหัสเป็นการรับน้องด้วยหรือไม่ ดร.จงรัก กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ที่ดีให้พี่ได้พบปะกับรุ่นน้อง ส่งต่อหนังสือเรียนให้กัน ถ้าถามว่า เป็นกิจกรรมรับน้องหรือไม่ ตนคงไม่ตอบ
เมื่อถามถึงเรื่องของการลงโทษ ดร.จงรัก กล่าวว่า ตอนนี้ขอให้นิสิตปลอดภัยก่อน แต่มีการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากนิสิตที่เกี่ยวข้องแล้ว และจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงถึงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ โดยเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพูดคุย รวมถึงอาจารย์ที่ดูแลกิจกรรมด้วย ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นนอกความรับผิดชอบของอาจารย์แล้วหรือไม่
ศ.เกียรติคุณ พลเรือโท นิรุทธิ์ กล่าวว่า ที่สำคัญ ต้องขอดูสภาพจิตใจของเด็กก่อน ทั้งตัวของน้องบอส และนิสิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งฝ่ายรุ่นพี่อาการก็น่าห่วงไม่น้อยกว่ารุ่นน้อง มหาวิทยาลัยก็มีการจัดจิตแพทย์เข้าไปพูดคุยเพื่อดูแลสภาพจิตใจเบื้องต้นแล้ว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่