xs
xsm
sm
md
lg

พ่อน้องบอสยันไม่แจ้งความเหตุรับน้อง ข้องใจลูกชายจมน้ำทั้งที่ว่ายน้ำแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พ่อเผย “น้องบอส” อาการดีขึ้น ข้องใจลูกชายจมน้ำทั้งที่ว่ายน้ำแข็ง ยันไม่แจ้งความดำเนินคดีเหตุรับน้อง ไม่ชัวร์ลูกชายจะพูดตรงกับ ม.เกษตรฯ แถลงข่าวหรือไม่ เรียกร้อง รบ. แก้ปัญหารับน้องไม่สร้างสรรค์ มีกฎหมายชัดเจน ด้านฝ่าย กม. มูลนิธิเยาวชนฯ พร้อมช่วยเหลือคดีเอาผิดถึงที่สุด

จากกรณีข่าว นายโชคชัย ทองเนื้อขาว หรือ น้องบอส นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จมน้ำภายหลังการทำกิจกรรมเฉลยสายรหัส ซึ่งทาง ม.เกษตรฯ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการรับน้อง เป็นเพียงการลงไปล้างตัวในบ่อน้ำหลังตัวเปื้อนฝุ่น คาดว่าเป็นตะคริวจนจมน้ำ ทำให้เกิดอาการปอดติดเชื้อ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

วันนี้ (13 ก.ย.) ในเวทีเสวนา “รับน้องไม่สร้างสรรค์” และ “กิจกรรมเสี่ยง นศ.” ถึงเวลายาแรงหรือยัง? จัดโดยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ มูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา นายอัมพร ทองเนื้อขาว บิดาของน้องบอส กล่าวว่า จากการที่ลูกชายเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง โดยรุ่นพี่สั่งให้ลงไปในสระน้ำจนได้รับอันตรายถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. เนื่องจากปอดติดเชื้อ เมื่อได้ทราบข่าวหัวอกคนเป็นพ่อก็ใจสลายทำอะไรไม่ถูก เพราะน้องเป็นเด็กดีมีอนาคตและไม่เคยมีเรื่องหรือมีปัญหากับใครแต่พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้เป็นใครใครก็รับไม่ได้

“ตอนนี้ลูกชายอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังอาการ ซึ่งไม่หวังอะไรมากขอแค่ลูกชายฟื้นและกลับมาเรียนได้ตามปกติ ทั้งนี้ ยังสงสัยว่าลูกชายจมน้ำได้อย่างไรเนื่องจากเรียนว่ายน้ำมาตั้งแต่เด็กและว่ายน้ำแข็งพอสมควร อีกทั้งไม่แน่ใจว่าน้องจะพูดตรงกับที่มหาวิทยาลัยแถลงข่าวหรือไม่ หลังจากนี้จะยังไม่แจ้งความดำเนินคดี แต่เรื่องการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงก็ต้องดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกิจกรรมรุนแรงแบบนี้อยากให้เป็นกรณีสุดท้าย เพราะไม่อยากให้ไปเกิดขึ้นกับครอบครัวใดอีก และขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีกฎหมายหรือมาตรการที่ชัดเจน ห้ามการรับน้องไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรง หรือบังคับให้ทำสิ่งไม่เหมาะสม เชื่อว่ารัฐบาลโดยเฉพาะ นายกฯท่านนี้ จะทำได้” นายอัมพร กล่าว

นายเตชาติ์ มีชัย ฝ่ายกฎหมายมูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 300 และมาตรา 309 เข้าข่ายบังคับข่มขืนให้กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งหลังจากนั้นคงต้องรอผลตรวจทางการแพทย์และพยานหลักฐานพยานแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งโทษที่จะได้รับอาจจะแตกต่างออกไป อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยผู้บริหาร อาจารย์ถือว่ามีความผิด ตกเป็นจำเลยร่วมมีโทษทางวินัยและอาญา หากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งหากผู้เสียหายต้องการเอาผิด ทางทนายความของมูลนิธิยินดีให้คำปรึกษาและดำเนินคดี รวมถึงการรับน้องโหดในรายอื่น ๆ ด้วย

“ปัญหารับน้องรุนแรง ไม่ควรซุกไว้ใต้พรม หรือปัดความรับผิดชอบ รุ่นพี่ต้องไม่ใช้อำนาจ หรือความสะใจอยู่เหนือรุ่นน้อง ซึ่งหลายกรณีมีการข่มขู่ห้ามโพสต์ห้ามแชร์ เพื่อต้องการปิดข่าว ตนเชื่อว่ากิจกรรมประเทืองปัญญามีให้ทำอีกมากรับน้องดี ๆ สร้างสรรค์ก็มีอยู่ไม่น้อย จึงไม่ควรใช้พฤติกรรมขยะเข้ามาอยู่ในประเพณีรับน้อง อยากจะขอให้สังคม พ่อแม่ผู้ปกครองออกมาปกป้องสิทธิ เรียกร้องความยุติธรรม อย่ามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ปล่อยให้ผ่านไป ซึ่งด้านหนึ่งจะยิ่งทำให้บรรดารุ่นพี่ขาโหดได้ใจ กระทำแบบนี้ซ้ำซาก ข้อสำคัญ หากนักศึกษายึดติดในระบบอำนาจนิยม เมื่อโตขึ้นเข้าสู่ระบบการทำงานก็จะติดความคิดและพฤติกรรมบ้าอำนาจไปด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวเขา รวมไปถึงงานและประเทศชาติแต่อย่างใด” นายเตชาติ์ กล่าว

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นนักศึกษาต่อสถานการณ์การรับน้องในมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศจำนวน 1,215 ราย ระหว่างวันที่ 15 - 30 ส.ค. 59 พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 45.75% มองว่า กิจกรรมรับน้องยังอยู่ในเกณฑ์ดี สร้างสรรค์ 10.37% อยากให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาอย่างมากขณะที่ 18.44% เห็นว่า ไม่เกิดประโยชน์กับนักศึกษา และ 25.44% มองว่า กิจกรรมจะเกิดปัญหาบ้างบางส่วนแต่ไม่มาก สำหรับพฤติกรรมรับน้องที่ยังน่าห่วง ได้แก่ พูดจาหยาบโลน บังคับ ข่มขู่ ด่าทอ กดดัน หลอกล่อให้ดื่มสุราสูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด ขณะเดียวกัน กว่า 1 ใน 3 ยังมองว่า ปัญหาสำคัญคือ ทัศนคติของรุ่นพี่ที่สืบทอดกันมา รวมถึงสถานศึกษาไม่มีระบบควบคุมการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องและบทลงโทษไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 89.30% ต้องการให้สถาบันมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น

“จุดยืนเราไม่ได้ให้ยุติประเพณีรับน้อง เชื่อว่า หากเลือกใช้ในทางที่ดีจะเป็นประโยชน์อยู่ แต่เราเป็นปฏิปักษ์ต่อความรุนแรง ระบบอำนาจนิยม การมอมเมาน้องด้วยอบายมุข และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่แฝงอยู่ในกิจกรรมดังกล่าวรุ่นพี่ควรทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ปลอดภัยมากกว่ารุ่นพี่ต้องไม่เอาค่านิยมผิด ๆ หรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้องมาใช้ หรือการใช้คำพูดข่มขู่คุกคามสิทธิ นอกจากนี้ ต้องหาทางป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด หรือเลี่ยงสถานที่ไม่เหมาะสมเสี่ยงอันตราย ที่สำคัญรัฐบาล กระทรวงศึกษาฯควรกำหนดนโยบายห้ามจัดกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ หากเกิดเหตุขึ้น ผู้บริหารสถาบันต้องรับผิดชอบ หากหนีไปจัดข้างนอก รุ่นพี่ต้องรับผิดชอบ จะอ้างว่าไม่เจตนาไม่ได้เพราะเป็นความผิดตามกฎหมาย” นายธีรภัทร์ กล่าว

ขณะที่ นายเอ (นามสมมติ) อายุ 21 ปี เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนเป็นอดีตเด็กอาชีวะที่สถาบันแห่งหนึ่ง และเคยผ่านกิจกรรมรับน้องโหดมาแล้ว ช่วงนั้น รุ่นพี่สั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ เพราะอยากเป็นที่ยอมรับและเข้ากลุ่มกับเพื่อน เช่น สั่งให้วิดพื้นนาน ๆ นอนกลิ้งไปมา หมอบคลานกับพื้น ต้องทำแบบนี้หลังพักเที่ยงและเลิกเรียนจนครบ 1 เทอม แต่ที่รุนแรงที่สุด คือ บังคับให้ดื่มเหล้า โดยที่รุ่นพี่เป็นคนกรอกเข้าปากจนเมาไม่ได้สติ และให้ยืนเกาะกลุ่มกันแล้วรุ่นพี่ก็ใช้เท้าถีบ ตบ เตะ จนเพื่อนหลายคนล้มไปนอนกองลงกับพื้น อีกทั้งยังใช้คำพูดหยาบคาย ข่มขู่ บังคับให้ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ตัวเราจะเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ด้วยความกลัวจึงไม่กล้าโวยวาย หรือถอนตัวจากกิจกรรม ทั้งนี้ อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการควบคุมอย่างจริงจังได้แล้ว เราสูญเสียกันเท่าไหร่แล้วกับเรื่องนี้ ควรนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาใช้ในการจัดระเบียบการรับน้องให้ได้ ที่สำคัญ หากมีการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ไม่ควรช่วยกันปกปิด ควรยอมรับความจริง ว่ากันไปตามกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่เราจะช่วยกันเปลี่ยนกิจกรรมรับน้องให้สร้างสรรค์เป็นประโยชน์กับน้องและสังคมอย่างแท้จริง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น