เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันไปเป็นพิธีกรในงานแถลงข่าว ชวนศิษย์มีครูเสนอชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งที่ 2 ปี 2560 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
ในท่ามกลางยุคปฏิรูป เรื่องครูก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการหยิบยกมาพูดอย่างมากในวงการการศึกษาที่ต้องการให้มีการปฏิรูปครู เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงให้ได้ ในขณะเดียวกัน ครูยุคนี้ก็ถูกตั้งคำถามต่อสังคมมากมายว่าอาชีพครูในปัจจุบันดูเหมือนจะเน้นเรื่องการทำงานเพื่อรายได้ซะมากกว่า จึงทำให้ครูกับลูกศิษย์ไม่แน่นแฟ้นกันเหมือนในอดีต
แต่ในความเป็นจริงเรายังมีครูดี ๆ อยู่มากมายในสังคม ซึ่งไม่ได้แสดงตนให้โลกรู้ว่าพวกเขามีจิตวิญญาณของความเป็นครู และครูเหล่านั้นก็ไม่ได้เพียงแค่ต้องการสอนเรื่องวิชาการเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ลูกศิษย์ด้วย
รางวัลนี้จึงต้องการยกย่องและเชิดชูคุณครูเหล่านี้ ซึ่งผู้ที่เป็นลูกศิษย์จะรู้ดีที่สุดว่าครูของเราคนไหนที่เคยสร้างแรงบันดาลใจหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้แก่เรา
ดังเช่น คุณครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ซึ่งเป็นครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนแรกของประเทศไทย ปี 2558 เล่าให้ฟังถึงการได้รางวัลนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้สอนเพียงแค่ในตำราอย่างเดียว แต่พยายามใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ดึงนักเรียนกลับมาคิดแก้ปัญหาโดยใช้เรื่องใกล้ตัวเพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เข้ากับการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน โดยค้นพบว่า การเป็นครูนั้นจะหยิบยกเอาความขาดแคลน ความไม่พร้อมมาเป็นข้ออ้างในการทำงานไม่ได้ ดังเช่นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับสั่งไว้ว่า จงทำงาน ท่ามกลางความขาดแคลน ให้บรรลุผลด้วยความมุ่งมั่นและซื่อสัตย์
“ผมจึงไม่เคยปริปากร้องขอความช่วยเหลือ แต่เริ่มเป็นฝ่ายลงมือทำจนให้คนเห็นผล ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ ผมจึงเชื่อว่าในประเทศไทยมีครูกว่าหกแสนคน ครูดีเหล่านี้มักไม่ยกย่องตัวเอง ฉะนั้นต้องมีคนพูดแทนถึงคุณความดีจึงอยากเชิญชวนให้ศิษย์มีครูหยิบยกความดีของครูของท่านผ่านการเสนอชื่อรางวัลครั้งนี้”
ในขณะที่ ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีกล่าวถึงครูเฉลิมพร ว่า เป็นตัวอย่างของครูดีที่น่ายกย่อง ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ที่ได้มีการพิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนแล้ว คณะกรรมการต้องลงไปในพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้คนรอบข้างให้ได้ข้อมูลมากที่สุดก่อนที่จะเลือกใครให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
โดยกระบวนการคัดเลือกจะเน้นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์ มีผลงานดีเด่นเป็นประจักษ์แก่วงการศึกษาและพัฒนาคนในประเทศอาเซียน และติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ
สำหรับปี 2560 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีการจัดประชุมทำความเข้าใจคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในระดับภูมิภาคใน 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพฯ
“ทุกท่านสามารถเสนอชื่อไปยังคณะกรรมการคัดเลือกในจังหวัดที่มีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 เป็นจุดอำนวยการ โดยผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อประกอบด้วย ศิษย์เก่าอายุ 25 ปีขึ้นไป และ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรที่มีภารกิจการเรียนรู้ โดยมีระยะเวลาในการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับคัดเลือกตั้งแต่บัดนี้จนถึง ธ.ค. 59 ก่อนที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดจะใช้เวลาคัดเลือก และส่งต่อให้คณะกรรมการคัดเลือกในส่วนกลาง (ธ.ค. 59 - มี.ค. 60) ตามลำดับ ทั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯพิจารณาประกาศผลในวันที่ 25 เม.ย. 60 และจะมีพิธีพระราชทานรางวัลในวันที่ 10 ต.ค. 60 ข้อมูลเพิ่มเติม www.PMCA.or.th”
ส่วน ดร.จรูญ ไชยศร รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวในฐานะผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ได้มอบนโยบายให้มีการจัดตั้งศูนย์สื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารความก้าวหน้าของโครงการนี้ทั่วประเทศ โดยได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ทั้ง 8 เขตทั่วประเทศจัดนำแผนในการสื่อสาร ร่วมกับประชาสัมพันธ์จังหวัดทั่วประเทศ โดยเสนอให้มีการจัดแถลงข่าวในแต่ละจังหวัดเพื่อกระตุ้นกระแสในพื้นที่และเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์ของประเทศด้วยการศึกษาผ่านรางวัลอันทรงคุณค่านี้เป็นสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ เชื่อมโยงสู่การพัฒนาคุณภาพคนซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
“ทุกคนล้วนเป็นศิษย์มีครู ในฐานะนักสื่อสาร สามารถเลือกใช้ต้นทุนเครือข่ายครูเจ้าฟ้ามหาจักรีในปี 2558 จำนวน 165 คน ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดสร้างกระแสได้ด้วยวิธีการที่หลายหลาก ฉะนั้น การประชาสัมพันธ์ต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องแปลกแตกต่างจากเดิม และลงมือทำได้ทันที”
และปิดท้ายคนที่น่าสนใจเพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรง คือ คุณบริบูรณ์ จันทร์เรือง หรือ ตั๊ก นักแสดงอารมณ์ดีชื่อดัง ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์ เล่าให้ฟังว่า
“ผมเป็นตัวแทนเด็กคนหนึ่งที่มีโอกาสในชีวิตก็เพราะมีครูดี สมัยก่อนฐานะทางบ้านไม่ดี ผมติดค่าเทอมโรงเรียน เพราะไม่มีเงินจ่าย แต่คุณครูใหญ่ (หม่อมราชวงศ์ รุจีสมร สุขสวัสดิ์) ท่านรักเด็กมาก ไม่เคยว่าอะไร ไม่เคยทวง จนทำให้ผมมีโอกาสประกวด “โดมอนแมนมินิ” ตอน ป.6 ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปในทางที่ดีตลอดมา ครูและเพื่อนที่โรงเรียนยังให้การสนับสนุนเหมือนเป็นครอบครัวมาตลอด พอผมเริ่มเข้าวงการบันเทิง จึงไม่เคยลืมที่จะตอบแทนพระคุณครูและโรงเรียน
“ผมต้องขอบพระคุณคุณครูใหญ่ และ คุณครูนิตยา ตัญยงค์ ที่ช่วยเด็กที่วรรณวิทย์ เพราะพื้นฐานเด็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีทุนทรัพย์ เวลาผมไปเยี่ยมโรงเรียนครูใหญ่ก็มักจะเล่าให้ฟังว่า แม้จะมีคนมาขอซื้อที่ดินหลายพันล้านแต่ไม่ขาย เพราะจะรักษาโรงเรียนนี้ไว้ให้เด็กยากจนตามเจตนารมณ์ของคุณแม่ผู้ตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น ผมจึงอยากเป็นตัวแทนของศิษย์มีครูทุกท่านให้ร่วมกันค้นหาและเสนอชื่อ ‘คุณครูที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิต’ ช่วยกันปลุกสังคมให้กลับมาให้คุณค่าครูที่ดีกัน”
เชื่อเถอะค่ะ เรื่องดี ๆ ของคนดี ๆ ในสังคมยังมีอีกเยอะ ครูดีก็มีไม่น้อย เป็นเรื่องที่คนเป็นลูกศิษย์จะช่วยกันเชิดชูและเสนอชื่อครูดี ครูชีวิตของเราที่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงดี ๆ ให้กับลูกศิษย์อย่างเรา
สังคมไทยต้องร่วมกันค้นหาและส่งเสริมคนดีค่ะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนดีที่เป็น “ครู” เพื่อที่จะส่งต่อความดีออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่