xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ไล่กรอง “ข้อมูลสุขภาพ” ผ่านโซเชียลฯ ก่อนคอนเฟิร์มเชื่อถือได้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ตั้ง คกก. สื่อสังคมออนไลน์ พร้อมร่วมกองสุขศึกษา สบส. เร่งกรองข้อมูลสุขภาพบนเว็บไซต์ - โซเชียลมีเดีย ข้อมูลใดเชื่อได้หรือไม่ได้ รับดำเนินการช้า ไม่ทันคนสร้างข้อมูล ขอประชาชนมีวิจารณญาณ เช็กข้อมูลก่อนเชื่อ หรือแชร์

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ ศูนย์ไอซีที สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนก็เชื่อถือไม่ได้และเป็นเรื่องลวง ที่ผ่านมา สังคมก็ตั้งคำถามกับ สธ. ว่า เมื่อไรจะมีการให้การรับรองข้อมูลสุขภาพที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ว่าข้อมูลใดเชื่อถือได้ หรือข้อมูลใดที่เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ สธ. พยายามดำเนินการ แต่ต้องเข้าใจว่าข้อมูลสุขภาพตามเว็บไซต์ต่าง ๆ มีการสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก บางครั้งเราก็กรองไม่ทันว่าข้อมูลใดเชื่อถือได้หรือไม่ได้ เพราะคนสร้างข้อมูลเหล่านี้มีมากกว่าคนที่คอยตามแก้ข้อมูล

“อย่างที่ผ่านมาแม้แต่ สธ. ยังถูกปลอมข้อมูลเว็บไซต์ โดยนำภาพของผู้ป่วยมาตัดต่อเพื่อให้คนเข้ามาคลิกอ่าน เพื่อได้ยอดคลิกโฆษณา ซึ่งปีนี้ถูกปลอมเว็บมา 3 ครั้งแล้ว สธ. จึงมีการตั้งคณะกรรมการสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาโดยเฉพาะในการดูแลเรื่องเหล่านี้ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ร่วมกับกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ดำเนินการรับรองข้อมูลสุขภาพทางเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ว่า ข้อมูลใดเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แต่อาจจะช้าไม่ทันใจประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าข้อมูลพวกนี้มีมากเกินกว่าที่จะตามแก้หรือกรองข้อมูลให้ทันได้” ผอ.ศูนย์ไอซีที สธ. กล่าว

นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า การคัดกรองข้อมูลสุขภาพทางสื่อออนไลน์ ว่า เชื่อได้หรือไม่นั้นเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาข้อมูลสุขภาพผิด ๆ ทางสื่อออนไลน์ สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การปลูกฝังให้ประชาชนทั่วไปมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ไม่ใช่ว่าเห็นข้อมูลอะไรมาก็ส่งต่อหรือแชร์ทันทีแบบไม่รู้เรื่อง ก็จะทำให้เกิดการส่งต่อแบบแชร์ลูกโซ่ได้ ดังนั้น ต้องมีการปลูกจิตสำนึกเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย โดยเมื่อรับข้อมูลสุขภาพใดมาก็ต้องตระหนักก่อนว่าจริงหรือไม่ ทำการรีเว็กข้อมูลจากแหล่งอื่นก่อนว่าเป็นข้อมูลจริงหรือลวง เชื่อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแม้ข้อมูลจะมาจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ แต่ความจริงคือ มีการปลอมเว็บไซต์ หรือปลอมเพจ โดยแอบอ้างชื่อของหน่วยงานที่เชื่อถือได้ก็มี อย่างกรณีการปลอมเว็บไซต์ สธ.เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีวิจารณญาณให้มาก

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น