แพทยสภาออกแถลงการณ์ป้องหมอถูกคนไข้เตะก้านคอ ชี้คุกคามดูหมิ่นวิชาชีพร้ายแรง แต่ยังไร้มาตรการช่วยเหลือชัดเจน ด้านสังคมออนไลน์ขอเป็นเคสตัวอย่างเอาผิดคนไข้ อย่ายอมความ
จากกรณีปรากฏคลิปวิดีโอคนไข้เตะก้านคอแพทย์ขณะทำการรักษาที่ รพ.แม่ใจ จ.พะเยา จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์สนั่นบนโลกออนไลน์ ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนไข้ และบางกระแสที่แสดงความคิดเห็นว่า แพทย์อาจพูดจาไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้มีการแจ้งความทราบชื่อคือ นพ.ธงชัย เมืองคำ และผู้ป่วยคือ นายสุรเกียรติ เพชรประดับ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแม่ใจ โดยอ้างว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่แพทย์ซักถามอาการและกดตรวจลิ้นปี่ ขาขวาจึงก็พรวดเตะก้านคอแพทย์โดยไม่รู้ตัว
ล่าสุด วันนี้ (14 ส.ค.) ในเว็บไซต์แพทยสภา ได้เผยแพร่แถลงการณ์สำนักงานเลขาธิการแพทยสภาระบุว่า ตามที่มีข้อเท็จจริงเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย กรณีแพทย์ถูกทำร้ายขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐนั้น
แพทยสภาตามมาตรา 7(3)(6) แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม ในฐานะตัวแทนแพทย์ทั้งประเทศ มีความเห็นว่า เป็นการคุกคามและดูหมิ่นเกียรติแห่งวิชาชีพอย่างร้ายแรง โดยไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ไม่สามารถใช้ความรุนแรงต่อแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้
แพทยสภาพร้อมให้การสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัย และปราศจากการคุกคาม หรือความรุนแรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ทุกรูปแบบ และขอชื่นชมและให้กำลังใจแพทย์ในความอดทนอดกลั้นมิได้ตอบโต้ต่อพฤติการณ์อันก้าวร้าวดังกล่าว
ภายหลังการออกแถลงการณ์ดังกล่าวในเฟซบุ๊กของแพทยสภาด้วยนั้น มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยบางความเห็นเสนอว่า เป็นการทำร้ายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ทำร้ายร่างกายธรรมดา ซึ่งจะมีโทษสูงกว่า หรืออยากให้ช่วยลงพื้นที่ดูแลแพทย์ทั้งร่างกายและจิตใจ ช่วยเหลือเรื่องการดำเนินคดี และไม่ใช่ปล่อยให้จบลงโดย ผอ.รพ. เรียกไปยอมความ ซึ่งแสดงถึงการไม่ปกป้องแพทย์ รวมถึงให้แพทยสภาใช้เป็นกรณีตัวอย่างดำเนินการทางกฎหมายคนไข้ที่ทำร้ายร่างกายแพทย์ให้ถึงที่สุด
ด้าน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ตนไม่สนับสนุนความรุนแรง และขอแยกเรื่องนี้เป็น 3 ส่วน คือ 1. คนไข้เตะหมอผู้ให้การรักษา ถือว่าไม่ถูกต้อง 2. เรื่องหมอใช้คำพูดไม่เหมาะสม หรือใช้อารมณ์กับคนไข้ เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาที่จะว่ากล่าวตักเตือน 3. เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเก็บกดของสังคม ที่มีรากเหง้ามาจากปัญหาสารพัดในวงการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเรื่องหมอน้อยคนไข้เยอะ จนถูก รพ. เอกชนดูดไป การเหน็ดเหนื่อยส่งผลถึงคุณภาพบริการ รวมไปถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ ที่เสียหายแล้วระบบรับผิดชอบไม่เพียงพอ ฯลฯ วันนี้เริ่มปะทุรุนแรงขึ้น ถึงเวลาหรือยัง ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ กับผู้ป่วย ก่อนที่ความรุนแรงจะลุกลามบานปลาย ด้วยการเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (หรือร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข) ที่ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่