มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลตรวจ “สารฟอกขาว” ในน้ำตาลมะพร้าว 21 ยี่ห้อ พบไม่ใส่สารฟอกขาว 17 ยี่ห้อ เจอสารฟอกขาว 4 ยี่ห้อ แต่ไม่เกินมาตรฐาน 2 ยี่ห้อ ชี้ กินมากสะสมร่างกายทำช็อก หมดสติ เสียชีวิตได้
วันนี้ (9 ส.ค.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าว “สารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว” ว่า นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มตรวจสอบน้ำตาลมะพร้าว 21 ยี่ห้อ พบว่า ร้อยละ 81 หรือประมาณ 17 ตัวอย่างไม่พบสารฟอกขาวเลย โดยพบ 4 ยี่ห้อที่มีสารฟอกขาว แต่ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด 2 ยี่ห้อ คือ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด
น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า น้ำตาลมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสียง่ายและมีผิวสีคล้ำ จึงเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงที่จะมีการใส่สารฟอกขาว หรือสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ลงไป เพื่อให้สีสวยและยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการตรวจสอบน้ำตาลมะพร้าว 21 ตัวอย่าง มีการซื้อทั้งจากตลาด และซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป พบว่า 17 ตัวอย่าง ไม่มีสารฟอกขาวเลย ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ที่มียี่ห้อ 14 ตัวอย่าง คือ กุหลาบคู่ น้ำตาลปี๊บบ้าน กุหลาบ อัมพวา Suttiphan (สุทธิภัณฑ์) โฮม เฟรช มาร์ท รัชนิน (ของดีแม่กลอง) ยี่ห้อลิน ยี่ห้อซูการ์รี่ มิตรผล ซอสามสาย อนามัย ตาลไท และ คุณจา ไม่มียี่ห้ออีก 3 ตัวอย่าง ส่วน 4 ตัวอย่างที่พบสารฟอกขาว มี 2 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารฟอกขาวเกินมาตรฐาน คือ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม โดยไม่มียี่ห้อ 1 ตัวอย่าง พบสารฟอกขาวเกิน 61 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม อีกตัวอย่าง คือ สุทธิภัณฑ์ พบสารฟอกขาวเกิน 72 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม โดยยี่ห้อนี้เมื่อซื้ออีกแห่งกลับไม่พบสารฟอกขาว โดยอีก 2 ตัวอย่างไม่เกินค่ามาตรฐาน
“น้ำตาลมะพร้าวยังไม่มีการระบุ หรือกำหนดปริมาณสารฟอกขาวไว้ชัดเจน จึงใช้มาตรฐานที่กำหนดในน้ำตาลทรายอย่างละเอียดเป็นมาตรฐาน คือ อิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 และประกาศ อย. เรื่องข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร กำหนดให้ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานของ CODEX ให้ใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในน้ำตาลทราย 20 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทรายแดง ให้ใช้ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ การรับประทานสารฟอกขาวไปมาก ๆ จะมีอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ถ้าสะสมในร่างกายมาก ๆ จะทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน และในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง หรือผู้ป่วยโรคหอบหืด จะมีอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิต จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบ วัตถุกันเสีย วันเดือนปีที่ผลิต ขนาดบรรจุ ราคาที่แน่นอน คำแนะนำในการเก็บรักษา การนำไปใช้ประโยชน์ และแหล่งผลิตพร้อมชื่อยี่ห้อสินค้าที่ชัดเจน รวมทั้งไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสีขาวจนผิดธรรมชาติ” น.ส.มลฤดี กล่าว
น.ส.มลฤดี กล่าวว่า หากพบว่าน้ำตาลมะพร้าวที่ซื้อมามีกลิ่นเหม็น ฉุน รสหวานแหลม เนื้อน้ำตาลแข็งมาก หรือเก็บไว้ได้นานเป็นเดือนที่อุณหภูมิห้องโดยสียังขาวนวล ต้องระวัง เพราะอาจเป็นน้ำตาลมะพร้าวที่ผสมสารฟอกขาวในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถรู้ข้อมูลประกอบการเลือกสินค้าได้นั้น เกิดจากการที่ผู้ประกอบการไม่เปิดเผยข้อมูลบนฉลากและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีกลุ่มผู้ประกอบบางรายขอให้ยกเลิกการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ อ้างเป็นอุปสรรคต่อการค้า จึงขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลประกอบการเลือกสินค้าด้วย และขออย่ายกเลิกตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการบางราย
เมื่อถามถึงน้ำตาลมะพร้าวยี่ห้อเดียวกัน แต่ทั้งพบและไม่พบสารฟอกขาว น.ส.สารี กล่าวว่า ยี่ห้อสุทธิภัณฑ์ ที่ทั้งพบสารฟอกขาว และไม่พบนั้น คาดว่า มาจากกระบวนการผลิตไม่คงที่ ซึ่งกรณีนี้ได้นำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อ อย. เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่