เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉัน และลูกชายคนโต - สรวง สิทธิสมาน ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับมูลนิธิ พอ.สว. (มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ในฐานะอาสาสมัครสมทบ ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับบรรดาบุคลากรทางการแพทย์อาสา เมื่อวันที่ 24 - 30 กรกฎาคม 2559
ในการเดินทางครั้งนี้ ดิฉันได้ให้การบ้านกับลูกชาย ว่า เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้เขียนถึงความรู้สึกจากสิ่งที่เราได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ในฐานะเยาวชน
ดิฉันขออนุญาตนำบทความที่ลูกชายเขียนถึงมาเล่าสู่กันฟังค่ะ เป็นอีกเสียงสะท้อนจากมุมมองของวัยรุ่นคนหนึ่งที่โตมาในสังคมเมือง
………………………………………………
ตอนแรกที่เห็นตัวเองใส่เสื้อแขนสั้นปล่อยชายผ้าหนาสีเทา มีกระเป๋าใบโตด้านบนข้างซ้ายสีเขียว ชายเสื้อด่านล่าง 2 ข้าง เป็นกระเป๋าอีก 2 ใบ ก็รู้สึกแปลก ๆ อย่างไรชอบกล เพราะไม่เคยใส่เสื้อสไตล์ที่ดูเหมือนจะเรียกขานว่าซาฟารีนี้มาก่อน
แต่ในที่สุดเมื่อได้ไปใช้ชีวิตในรูปแบบที่ไม่เคยประสบมาก่อน อยากจะบอกว่าผมภูมิใจที่ได้ใส่เสื้อกระเป๋าเขียว
และอยากจะบอกอีกว่าชีวิตผมเริ่มเปลี่ยนไป
นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่พบพานจากการขึ้นไปใช้ชีวิตบนดอยร่วมกับสมาชิกมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชื่อย่อ พอ.สว. หรือที่เป็นเรียกขานกันทั่วไปว่า
“หมอกระเป๋าเขียว”
เมื่อวันที่ 24 - 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกับหน่วยแพทย์อาสาสมัครเดินเท้า มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. ออกเดินทางไปที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย เนื่องจาก อ.อมก๋อย เป็นพื้นที่สูง หมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาหรือในหุบเขาซึ่งถนนสำหรับรถยนต์เข้าถึงได้ลำบากมาก ทำให้ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง เทคโนโลยีทางการแพทย์ก็เช่นกัน ชาวบ้านที่เจ็บป่วยไม่สามารถตรวจสอบ หรือรักษาอาการป่วยนั้นได้ จึงต้องมีแพทย์เดินเท้าเข้าไปบริการให้ถึงที่
ทั้งนี้ สมาชิกหน่วยแพทย์ พอ.สว. ได้อาสาเดินเท้าเข้าไปให้บริการชาวเขา โดยแบ่งเป็น 2 ทีม แยกกันไปตรวจตามหมู่บ้านต่าง ๆ รวม 15 หมู่บ้าน รักษาคนไข้ราว 3,000 คน โดยผมได้เข้าไปร่วมกับทีมที่ 2 ในตำแหน่ง “อาสาสมัครสมทบ” มีหน้าที่อเนกประสงค์ เช่น ตัดผมให้ชาวบ้าน แจกของบริจาค สร้างความสนุกสนานให้เหล่าเด็ก ๆ ด้วยการเล่านิทาน หรือเป่าและบิดลูกโป่งแจกเด็ก ในขณะที่พี่ ๆ แพทย์อาสาสมัครซึ่งมีทั้งแพทย์รักษาโรคทั่วไป ทันตแพทย์ และเภสัชกร กำลังให้การรักษา หรือแจกจ่ายยากับชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่
ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่บนดอยนั้น ผมต้องอาบน้ำที่เย็นยะเยือกจนแทบสั่น ต้องนอนทรมานบนไม้กระดานแข็ง ๆ จนไม่สามารถหลับได้เกือบทั้งคืน ต้องเดินข้ามภูเขาเป็นลูก ๆ ระยะทางมากกว่า 10 กิโลเมตรภายใน 1 วัน เพื่อไปให้บริการในแต่ละหมู่บ้าน ระหว่างทางเผชิญทั้งแดด ฝน ปลักโคลน ทั้งปวดทั้งเมื่อยล้ากล้ามเนื้อ เหนื่อยหอบ หัวใจเต้นแรงจนแทบจะหลุดออกมา
แค่ 5 วันที่ลำบากก็ทำให้ผมรู้สึกว่าร่างกายตัวเองแทบพัง แต่...แต่...ชาวบ้านเหล่านั้นใช้ชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เกิด
เพียงแค่นี้ก็ทำให้ผมรู้แล้วว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนแล้ว ที่ได้เกิดมาเป็นตัวผมในทุกวันนี้
และยังทำให้ผมรู้อีกด้วยว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่กว่าที่คิดใว้มาก ผู้ด้อยโอกาสที่ผมได้สัมผัสในครั้งนี้ เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่ง ยังมีผู้ด้อยโอกาสอีกมากมายที่รอรับการช่วยเหลือ
ข้อแตกต่างที่ผมได้เห็นระหว่างชาวเมืองและชาวเขา คือ เด็ก ๆ ชาวเขานั้นดูแลง่ายมาก ๆ เห็นได้ชัดตอนที่เด็ก ๆ พวกนั้นถูกพี่ ๆ ทันตแพทย์จับถอนฟันโดยที่ไม่ร้องไห้เลยแม้แต่นิดเดียว ผมจำได้ว่าตอนเด็ก ๆที่ผมไปหาหมอฟันครั้งแรก ผมร้องไห้แทบตายทั้ง ๆ ที่หมอฟันแค่จับผมให้อ้าปาก หรือในตอนที่ผมตัดผมให้เด็ก ๆ ก็ทำให้ผมนึกถึงร้านตัดผมในกรุงเทพฯ ที่มักจะมีเด็กตัวเล็กนั่งแหกปากร้องไห้เสียงดังเพราะกลัวเสียงแบตเตอเลียน จนพ่อแม่ต้องอุ้มขึ้นรถกลับบ้านไป แต่เด็กชาวเขาที่ผมตัดผมให้ไปกลับนั่งนิ่ง ไม่มีใครร้องไห้เลยแม้แต่คนเดียว เพื่อนร่วมทางของผมคนหนึ่งถามเด็กชาวเขาคนหนึ่งว่าได้เงินค่าขนมไปโรงเรียนเท่าไหร่ เด็กคนนั้นตอบว่าสัปดาห์ละ 100 บาท ถ้าเปรียบกับในกรุงเทพฯนั้น 100 บาท ยังไม่สามารถซื้อกาแฟชื่อดังแก้วเดียวได้เลยด้วยซ้ำ
อะไรที่ทำให้ความแตกต่างมีมากขนาดนี้ ?
ผมใช้เวลาคิดไตร่ตรองถึงสาเหตุของความแตกต่างนี้ แล้วผมก็พบว่าเด็กชาวเมืองส่วนใหญ่โตขึ้นมากับค่านิยมมากมายจึงทำให้มีความต้องการสูง ซึ่งแน่นอน ตัวผมเองก็หนีไม่พ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ของเล่นราคาแพงเกินความจำเป็น วิดีโอเกมที่ใช้ระบบเติมเงิน หรือสมาร์ทโฟนราคาแพง เป็นต้น ส่วนพ่อแม่ที่รักลูกก็สนองตอบความต้องการให้ลูกของตัวเอง จนสร้างนิสัยเอาแต่ใจให้กับเด็ก ๆ จึงทำให้เด็ก ๆ ชาวเมืองเลี้ยงดูยาก เมื่อโตขึ้นก็จะสาละวนแต่ทำงานหาเงิน ไต่เต้าให้ได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ๆ เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น ๆ และโหยหาสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายได้มากขึ้น จึงทำให้มนุษย์ในเมืองมีนิสัยที่ไม่รู้จักพอ
แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไรในเมื่อเราไม่พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ ต่างกับชาวเขาที่โตมากับการพึ่งพาตัวเอง พ่อแม่ต่างสอนลูกให้รู้จักความพอเพียง โตมาก็ทำงานเพื่อเลี้ยงดูปากท้องตัวเองและครอบครัวให้มีอาหารกินครบ 3 มื้อ สร้างที่อยู่เอง ถึงแม้จะเป็นเพียงบ้านไม้หลังเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้อบอุ่นในยามค่ำคืน และป้องกันไม่ให้เปียกในยามที่ฝนตก การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในทุก ๆ วันโดยไม่ต้องมีไฟฟ้า หรือสัญญาณโทรศัพท์ แต่ผมกลับเห็นรอยยิ้มของพวกเขา และสัมผัสได้ถึงไอรัก และความสามัคคีที่พวกเขามีต่อกัน
วันที่ผมกลับลงมาจากดอยและเข้าสู่เมืองหลวงอีกครั้ง ผมถึงกับอุทานขึ้นมาว่า “กลับสู่ความวุ่นวายอีกครั้งแล้วเหรอวะ” เลยทีเดียว
การผจญภัยครั้งนี้ทำให้ผมได้เห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายและได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง
ก่อนที่ผมจะเขียนต้นฉบับนี้ ผมออกไปทำธุระนอกบ้าน แวะซื้อแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นใหญ่ ไก่ทอด และเฟรนช์ฟราย จากร้านอาหารฟาสต์ฟูดแฟรนไชน์ชื่อดังราคาประมาน 150 บาท กลับมากินที่บ้าน ผมนั่งกินจนผมรู้สึกอิ่มทั้ง ๆ ที่กินแฮมเบอร์เกอร์ไปแค่ครึ่งชิ้น และยังเหลือไก่ชิ้นใหญ่อีก ผมจึงตัดสินใจหยุดกินและเดินไปจะทิ้ง แต่ในขณะที่เปิดฝาถังขยะ ก็มีแว่บหนึ่งจากห้วงความคิดที่สะกิดผมให้นึกถึงภาพหน้าของเด็กชาวเขาคนหนึ่งที่ผมแบ่งขนมให้ตอนที่ผมยังอยู่บนดอย เพียงแค่นั้นผมก็ปิดฝาถังขยะ และนำอาหารที่กินเหลือไปกินต่อจนหมด
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้ว่าการผจญภัยครั้งนี้ได้ให้อะไรกับผมบ้าง ทั้งการเห็นคุณค่าของสื่งที่มีอยู่ และคุณค่าของชีวิต ได้รู้ว่าความลำบากที่แท้จริงเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ มิตรภาพระหว่างการเดินทางกับพี่ ๆ “หมอกระเป๋าเขียว” ใจดีทุกคน
ผมประทับใจการเดินทางครั้งนี้มาก ๆ และอยากจะถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับรู้
เสื้อแขนสั้นปล่อยชายผ้าหนาสีเทา มีกระเป๋าใบโตด้านบนข้างซ้ายสีเขียว ชายเสื้อด่านล่าง 2 ข้างเป็นกระเป๋าอีก 2 ใบ ที่ผมมีอยู่ 2 ตัวยับเยินยู่ยี่ขณะส่งซักก็จริง แต่หลังซักรีดเสร็จสรรพผมจะเก็บไว้อย่างดีในตู้เสื้อผ้า ในจุดที่พร้อมจะหยิบมาสวมใส่ในปีต่อไป ต่อไป และต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่