นพ.นรา จารุวังสันติ
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรคกระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111
อาการปวดหลังเป็นปัญหาที่หลายคนเผชิญอยู่ บางครั้งอาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการปวดหลังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อาการปวดหลังแบบออฟฟิศซินโดรม, อาการปวดหลังจากกระดูกทับเส้นประสาท, หมอนรองแตกทับเส้น, ข้อหลังหลวม, กระดูกสันหลังเคลื่อน, กระดูกสันหลังคด, มะเร็งกระดูก รวมถึงกระดูกติดเชื้อ การรักษาของโรคก็มีความแตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่ การรับประทานยา, การทำกายภาพบำบัด แต่หากไม่ได้ผลต้องพึ่งวิธีการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบและมีพัฒนาที่ดีขึ้นเพื่อผู้ป่วยจะได้บาดเจ็บน้อยที่สุด และฟื้นตัวใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด
ปัจจุบันการผ่าตัดหลัง/ผ่าตัดกระดูกสันหลัง มีวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงเข้าช่วย ได้แก่
1. เครื่อง O-arm เป็นอุปกรณ์ที่พัฒนามาจากเครื่อง x-ray C-arm ที่ใช้อยู่ตามโรงพยาบาลทั่วไป โดยเครื่อง O-arm จะมีความพิเศษคือสามารถ X-ray สร้างภาพแบบ 3 มิติช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น
2. เครื่อง Navigator เป็นเครี่องที่ใช้สำหรับใส่อุปกรณ์เข้าไปในกระดูกสันหลัง โดยทำงานร่วมกับเครื่อง O-arm เครื่อง Navigator จะมีคลื่นจับตำแหน่งและทิศทางของอุปกรณ์ทุกชนิดที่แพทย์ใช้ เพื่อนำไปประมวลออกมาเป็นภาพร่วมกับภาพกระดูกจากเครื่อง O-arm ทำให้แพทย์สามารถเห็นอุปกรณ์ที่ใช้และวัสดุที่ใส่ให้เข้าไปในกระดูกสันหลังผู้ป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผล
อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูงเข้ามาช่วยในการผ่าตัดหลังและได้ผลดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความบอบช้ำและฉีกขาดของกล้ามเนื้อจากการเจาะ ซึ่งบางครั้งอาจมีเลือดออกอยู่ภายในกล้ามเนื้อ จนเกิดความเจ็บปวดและเสียเลือดค่อนข้างมากอยู่ภายใน
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ได้พัฒนาเทคนิคในการผ่าตัดหลังแบบใหม่ ซึ่งการผ่าตัดจะมีบาดแผลเล็กและบาดเจ็บน้อยเหมือนเดิม แต่เทคนิคที่เพิ่มเติม คือ การผ่าตัดหลังโดยการยกกล้ามเนื้อขึ้นแทนการตัดกล้ามเนื้อเหมือนวิธีเดิม ซึ่งการผ่าตัดหลังแบบยกกล้ามเนื้อจะทำให้กล้ามเนื้อไม่ฉีกขาดเสียหาย และไม่มีเลือดออกจากกล้ามเนื้อ เทคนิคการผ่าตัดนี้สามารถนำมาใช้กับการผ่าทั้งแบบส่องกล้อง, เจาะรู รวมถึงการใส่โลหะดามกระดูกสันหลัง ก็สามารถใช้เทคนิคนี้ได้
การผ่าตัดหลังโดยใช้เทคนิคยกกล้ามเนื้อนี้ หากรวมกับการใช้กล้องส่องช่วยขยายในระหว่างผ่าตัดจะทำให้ได้ทั้งแผลที่เล็กและไม่เสียเลือด ซึ่งยิ่งดีกว่าการใช้กล้องเพียงอย่างเดียว การจะให้ผลการรักษาที่ดี นอกจากจะต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เอกซเรย์ 3 มิติ แบบ real time ในระหว่างผ่าตัด, กล้องส่องผ่าตัด แล้วสำคัญที่เทคนิคของแพทย์ในการผ่าตัดที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ร่างกายบอบช้ำน้อย มีแผลผ่าตัดที่เล็ก และฟื้นตัวเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา มีคนไข้ที่ใช้วิธีดังกล่าวสามารถฟื้นตัวได้ภายใน 1 วัน หลังการผ่าตัด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่