ความเป็นไทยคืออะไร? ความเป็นไทยอยู่ตรงไหน? ความเป็นไทยมีดีอย่างไร?
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีได้ผลักดันการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ พุ่งไปไวแค่ปลายนิ้วแต่สิ่งที่จะยังต้องคงไว้คือเสาหลักซึ่งเป็นจิตวิญญาณของตัวเราเอง สิ่งที่ยึดเหนี่ยวและเกาะเกี่ยวครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศอันเป็นที่รักของเราเอาไว้
คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าเราตอบว่าเราคือ “คนไทย” แล้วอะไรล่ะที่บ่งบอกว่าเราคือคนไทย เราเป็นคนพื้นถิ่นแห่งดินแดนสุวรรณภูมิที่มีจิตวิญญาณความเป็นไทย มีธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ที่ผูกพันพวกเราเอาไว้ร่วมกัน บุคคล วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม เครื่องแต่งกาย ศิลปะ หัตถกรรม กิจกรรม หรือภูมิปัญญาใดที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย?
นี่เองจึงเป็นที่มาของการที่เหล่าศิลปิน นักแสดง นักกีฬา และประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพทั้ง “ชมพู่” อารยา เอ ฮาร์เก็ต, “แพนเค้ก” เขมนิจ จามิกรณ์, “กาละแมร์” พัชรศรี เบญมาศ, ถั่วแระ เชิญยิ้ม, บัวขาว บัญชาเมฆ, ฉัตรชัย-สินจัย เปล่งพานิช, ตุ๊กกี้ ชิงร้อยฯ, “แอฟ” ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, “กัปตัน” ชลธร คงยิ่งยง, “วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา, “ผู้พันเบิร์ด” พ. ต. วันชนะ สวัสดี ออกมาร่วมรณรงค์บอกว่า ถ้าคุณรู้สึกภาคภูมิในความเป็นไทยในเรื่องใด “อย่าเก็บ” ไว้เพียงแค่ในไดอารี อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือเก็บไว้ภูมิใจแต่เพียงลำพัง แต่ควรถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ เหล่านั้นออกมาให้สังคม ให้โลก และคนรุ่นต่อไปได้ร่วมรับรู้และร่วมภูมิใจ
โครงการภาคภูมิแผ่นดินไทยถือเป็นโครงการระดับชาติ นำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปมาผนึกกำลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม ด้วยการเชิญชวนคนไทยร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวที่ดีงาม สิ่งที่เป็นสุดยอด สิ่งล้ำค่า ที่เป็นความภาคภูมิใจจากทุกชุมชนของประเทศไทย จัดทำเป็น “คลังสมบัติดิจิตอล”ครั้งแรก เพื่อเป็นแหล่งความรู้ของเยาวชน นักศึกษา ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรวมไปถึงชาวต่างชาติ เพื่อเผยแพร่ให้โลกได้รับรู้ถึงความรุ่งเรืองในอารยธรรม ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ของไทย และเก็บไว้ให้คงอยู่คู่คนไทยและประเทศไทยสืบไป
ทั้งนี้เนื้อหาที่มีการส่งเข้ามามากกว่า ๓๐,๐๐๐ เรื่องผ่านเว็บไซต์ www.theprideofthailand.com นั้นมีตั้งแต่เรื่อง บุคคลสำคัญ สถาปัตยกรรม ศิลปะ หัตถกรรม ประเพณีและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ไปจนถึงเรื่องใกล้ตัวอย่าง อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ของฝาก ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องอาหารไทยใกล้ ๆ ตัวพวกเราทุกคน คุณณิศิรา กายราศ ส่งเรื่องและภาพ “แกงขี้กากุ้งสด บ้านแหลมเทียน” ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของเมืองตราด และเล่าว่า “ฟังครั้งแรกอาจร้องยี้เพราะนึกว่าขี้ของกา แต่จริง ๆ มันคือลูกขี้กา ยิ่งหน้าฝนลูกขี้กายิ่งขึ้นเยอะ สีสวยเขียว ๆ แดง ๆ เอามาแกงกะทิอร่อยมาก”
ส่วนคุณ Anake Nammakhunt ก็โพสต์ภาพและบอกเล่าถึง “หมูตำ แม่ฮ่องสอน” ไว้ว่า “หมูตำ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า หมู๋ต๋ำ หรือจิ้นต๋ำ เป็นอาหารพื้นเมืองของทางภาคเหนือ สมัยก่อนจะนิยมทำกินช่วงเทศกาลต่าง ๆ นิยมทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ และผักสด ปัจจุบันเริ่มหาทานยากมากขึ้น”
ขณะเดียวกันคุณณัชชาภัทร นึกงาม ก็ถ่ายทอดเรื่องราวของ “ขนมเขียวมรกต” หรือ “เขียวใบหยก” ขนมขึ้นชื่อที่สุดของ อ. นาดี จ. ปราจีนบุรี เป็นขนมที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นโดยแท้ ตัวแป้งได้จากข้าวเจ้าผสมใบเตย กลิ่นหอมเย็นชวนชิม มาให้พวกเราคนไทยได้รู้จักและภาคภูมิใจ
มาร่วมเขียนเพื่อเก็บของดี วิถีชีวิต ความคิด หรือภูมิปัญญาไทยที่คุณรู้และร่วมแบ่งปันให้ผู้อื่น ตั้งแต่วันนี้ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ ที่
• เว็บไซต์ www.theprideofthailand.com หรือ
• ตู้ ปณ. ๑ ปณศ. คลองจั่น บางกะปิ กทม. ๑๐๒๔๐ หรือ
• LINE Official : ภาคภูมิแผ่นดินไทย หรือ #ภาคภูมิแผ่นดินไทย #theprideofthailand
บอกให้โลกรู้ เก็บให้คนรุ่นต่อไป ไม่ลืมความเป็นไทย เก็บไว้ให้อยู่คู่แผ่นดินไทย
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)