ผอ.ศปส.คาดปี 59 มีผู้เสพยา 2.7 ล้านคน เร่งบำบัดผู้เสพเพิ่มขึ้น ระดม อสม.ร่วมคัดกรอง ติดตามผู้ผ่านการบำบัดไม่ให้เสพซ้ำ ห่วงเยาวชนติดยาเพิ่มขึ้น แนวโน้มใช้ “กัญชา” ก้าวกระโดด พบยาเสพติด “ค็อกเทล” เพิ่ม 4 เท่า ขยายลูกค้าจัดโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 กรมสุขภาพจิตชี้เด็กบำบัดจิตจากการติดยาเพิ่มขึ้น แนะให้ความรู้ แต่ไม่ทดลอง เกราะป้องกัน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศปส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี ว่าคาดว่าในปี 2559 ทั่วประเทศมีผู้เสพยาประมาณ 2.7 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2559 สธ.ตั้งเป้าบำบัดผู้เสพยาเสพติดให้ได้ 220,000 คน ผ่านไปแล้ว 6 เดือน ผลการบำบัดรวมทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบสมัครใจ ระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษ รวมจำนวน 84,326 คน หรือประมาณร้อยละ 38 ของเป้าหมาย จึงได้เร่งรัดระบบการค้นหา คัดกรองผู้เสพยาในชุมชนอย่างเข้มข้นตามโครงการประชารัฐ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559-2560 ในส่วนของ สบส.มี อสม.ร่วมตรวจคัดกรองอาการความรุนแรงของการใช้ยาเสพติด และส่งบำบัดที่สถานพยาบาล รวมถึงร่วมติดตามผู้ที่ผ่านการบำบัดและกลับมาอยู่ในชุมชนไม่ให้กลับไปเสพยาซ้ำ โดยติดตามถี่ขึ้นคือทุก 3 เดือน โดยในรอบ 6 เดือนพบว่าผู้ผ่านการบำบัดหยุดเสพยาได้มากกว่าร้อยละ 80
“เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ระยะหลังมานี้สถานการณ์ยาเสพติดมีความซับซ้อนกว่าอดีต เด็กกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยได้รับรายงานว่ามีการใช้เด็กเล็กอายุ 7 ขวบ ส่งยาเสพติด มีการขายแบบโปรโมชัน ซื้อ 1 แถมเพิ่มอีก 1 ชนิด ส่งผลให้จำนวนผู้เสพขยายวงเพิ่มขึ้น ขณะที่อายุผู้เสพยาที่เข้ารับการบำบัดพบน้อยสุดเพียง 11 ขวบ ส่วนกลุ่มผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ร้อยละ 59 อายุ 15-29 ปี พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี โดยมีอัตราติดยาเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 19 ในปี 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 21 ส่วนกลุ่มวัยอื่นมีแนวโน้มลดลง ยาบ้ายังเป็นตัวยาที่ใช้มากอันดับ 1 แต่แนวโน้มลดลงจากร้อยละ 68 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 59 ในปีนี้ อันดับสองคือ กัญชา ใช้ร้อยละ 23 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ใช้ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตาม ระยะหลังสถาบันธัญญารักษ์รายงานมีการใช้ยาเสพติด 2 ชนิดผสมกัน หรือเรียกว่าค็อกเทล เช่น ยาบ้ากับกัญชา พบร้อยละ 4 เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว จากปี 2554 ที่ใช้ร้อยละ 0.05 และใช้ยาเสพติด 2 ตัวสลับกันก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 62 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 69 ในปี 2558 ทำให้การบำบัดมีความยุ่งยากขึ้น ส่วนสาเหตุการเสพยาส่วนใหญ่ยังเป็นเพื่อนชวนร้อยละ 50 รองลงมาคือทดลองใช้ร้อยละ 41” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากรายงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการทางจิต ปี 2558 พบว่า ผู้ป่วยติดยามีอาการทางจิต เข้ารับการบำบัดรักษา ใน รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,912 ราย จำนวนนี้ มากกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,517 ราย เป็นเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 12-24 ปี การที่เด็กและเยาวชนไทยรู้ถึงโทษภัยของยาเสพติด แต่ไม่ทดลองเสพ ย่อมเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้เป็นอย่างดี สำหรับแนวทางสังเกตลูกหลานว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ใช้เงินสิ้นเปลืองผิดปกติ สุขภาพร่างกายซูบผอม ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์แปรปรวน เอาแต่ใจ เริ่มมีนิสัยโกหก ลักขโมย หรือชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว พบอุปกรณ์การเสพ เช่น กระดาษฟรอยด์ ไฟแช็ก ติดต่อกับคนแปลกหน้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกต สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความรักความผูกพันในครอบครัว ถ้าเป็นไปด้วยดี มีความใกล้ชิด เข้าอกเข้าใจกัน ย่อมเป็น “วัคซีนใจ” สำคัญสำหรับเด็กๆ
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า วัยรุ่นและเยาวชนเป็นวัยที่อยากเห็น อยากลอง การค้นหาสิ่งใหม่ๆ การค้นหาความเป็นตัวเอง อย่างไรก็ตาม วัยนี้ก็มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการคิดวิเคราะห์ การยับยั้งชั่งใจ การใช้ดุลพินิจต่างๆ ที่อาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากพัฒนาการของสมองด้านการบริหารจัดการจะยังไม่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการนำไปสู่การติดสารเสพติด โดยจุดเริ่มต้น คือ เริ่มลองเพราะอยากรู้อยากเห็น ตลอดจนใช้เป็นครั้งคราว เรียนรู้ว่าหากใช้ปริมาณมากขึ้นก็จะได้รับผลความรู้สึกความสุขมากขึ้น จึงใช้สม่ำเสมออย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อให้สารสื่อประสาทและวงจรความสุขทำงานเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการปรับตัวของสมอง จนเกิดการติดยา และผลจากการใช้สารมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้สมองถูกทำลาย มีการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีในสมองจนเกิดอาการและความผิดปกติทางจิตต่างๆ ตามมาได้
“การที่เด็กลองหรือติดยาเสพติดเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน หรือปัญหาเรื่องเพื่อน เป็นต้น เพราะฉะนั้นวิธีการคือ เน้นที่การรับฟังปัญหาและทำความเข้าใจ ไม่ด่วนตัดสินใจหรือลงโทษว่าผิด เข้าไปคุยกับลูก ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย คุยกับลูกว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่ทราบว่าลูกกำลังทุกข์ใจ อยากจะบอกอะไรกับพ่อแม่ทราบไหม ให้พ่อแม่ช่วยอย่างไรบ้าง เป็นต้น ลูกจะอยากคุยและพร้อมจะร่วมแก้ไข ตลอดจนปรึกษาผู้รู้หรือผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสารเสพติด ตามโรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และถ้าหากลูกหลานติดสารเสพติดมานาน จนทำให้สภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมและบุคลิกภาพเบี่ยงเบนไปจากเดิม ครอบครัวไม่สามารถควบคุมได้ ควรส่งลูกเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจ ในสถานบำบัดรักษาต่างๆ ทั่วประเทศ” ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่