xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 40 สูตรตำรับยาต้านแบคทีเรีย ใช้ไม่ได้ผล เสี่ยงทำเชื้อดื้อยา ชง อย.เพิกถอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดบัญชี “ยาต้านแบคทีเรีย” กว่า 40 สูตรตำรับ ทั้งยาอม ยาแก้ท้องเสีย ยาเหน็บ ชี้ ใช้ไม่ได้ผล เสี่ยงทำเชื้อดื้อยา นักวิชาการจ่อยื่น รมว.สธ. ชง อย. เพิกถอนทะเบียน เผย ผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาใน รพ. ปีละ 4.5 หมื่นราย ขณะที่เด็กมีความเสี่ยงดื้อยาสูงสุด เหตุผู้ปกครองใช้เพื่อการรักษาผิดประเภท

วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว “เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย”

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสม หรือเกินความจำเป็น และในปัจจุบันยังมีทะเบียนตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมอย่างแพร่หลายตามท้องตลาด ทั้งนี้ เครือข่ายส่งเสริมการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผล ได้ทบทวนรายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศ เพื่อคัดเลือกรายการยาที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทย พบว่า มีตั้งแต่ “ยาอมแก้เจ็บคอ” เพราะ 80% ของอาการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อดังกล่าวและอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในลำไส้ “ยาแก้ท้องเสีย” ซึ่ง 80% เกิดจากเชื้อไวรัส ไปจนยาสูตรผสมชนิดฉีด ยาเหน็บทวารหนัก ยาเหน็บช่องคลอด และยาต้านแบคทีเรียชนิดใช้ภายนอก รวมมากกว่า 40 สูตรยาตำรับ โดยจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียาดังกล่าวได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) กล่าวว่า ตัวอย่างยาที่สมควรดำเนินการเพิกถอนทะเบียนตำรับยาก่อนเป็นอันดับแรก คือ ยาอมที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ (ยาต้านแบคทีเรีย) โดยเฉพาะสูตรยาที่มีนีโอมัยซิน (Neomycin) เพราะยาปฏิชีวนะนีโอมัยซินไม่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเจ็บคอ แต่ออกฤทธิ์ได้ต่อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เมื่อกลืนยาลงไปจะชักนำให้เกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีชื่อว่าอะมิโนกลัยโคไซด์ (Aminoglycoside) ทั้งกลุ่ม ซึ่งยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้ช่วยชีวิตคนที่ติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด

ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะทำงานด้านยาปฏิชีวนะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 45,000 ราย และการติดเชื้อดื้อยาในผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลก็มีจำนวนมากขึ้น และมีผลทำให้การรักษายุ่งยากเพราะต้องรักษาด้วยยาที่แพงกว่าปกติหรืออาจต้องฉีดยาวันละหลายครั้งซึ่งผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาล หรือต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาแทนที่จะใช้ยารับประทานอยู่ที่บ้าน ต้นตอของปัญหา คือ เชื้อดื้อยาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็น และใช้อย่างไม่ถูกต้อง เพราะสามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ทั่วไป

รศ.พญ.ดร.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดในการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เพราะเด็กยังมีภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาไม่ได้เต็มที่การเจ็บป่วยส่วนใหญ่ของเด็กจะเริ่มจากการติดเชื้อไวรัส แต่ผู้ปกครองไม่ทราบวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น จึงมักให้ “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะเป็นยาต้านแบคทีเรียทั้งที่ยากลุ่มนี้ไม่ออกฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยในช่วง 2 - 3 วันแรก ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ในเด็กปกติที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมาก่อน เมื่อเริ่มมีอาการที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น มีไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรือ ท้องเสีย ถ่ายเหลว ควรให้การรักษาประคับประคองตามอาการอย่างเหมาะสม เช่น ให้ยาแก้ไอ ยาลดอาการคัดจมูก ลดไข้ ในช่วงที่มีอาการเท่านั้น ไม่ควรให้ยาบรรเทาอาการในช่วงที่ไม่มีอาการ หากเด็กยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เช่น กินได้ เล่นได้ นอนหลับพักได้ดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียมารับประทานเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยารุนแรงจนรักษาไม่ได้ในอนาคต



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น