xs
xsm
sm
md
lg

อย.ยันไทยไม่มีอาหารเสริมจาก “หมามุ่ย” เร่งส่งกรมวิทย์ตรวจสอบ “น้องมิลค์” ดับ เหตุแพ้สารใด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แม่น้องมิลค์ ผู้เสียชีวิต
อย. ยันไม่เคยรับรองอาหารเสริม “หมามุ่ย” ชี้ ขายในท้องตลาด อ้างมี อย. ผิดกฎหมาย ส่งต่อกรมวิทย์ตรวจสอบการตาย “น้องมิลค์” หลังกินอาหารเสริมหมามุ่ย เกิดจากการแพ้สารชนิดใด ด้านเภสัชฯ รพ.อภัยภูเบศร ชี้ คนไทยหลงเชื่อข้อมูลสุขภาพง่าย ย้ำไทยยังไม่มีอาหารเสริมจากหมามุ่ย แต่รับมีสรรพคุณช่วยพาร์กินสัน การมีบุตรยาก

ความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ศตพร พันทอง หรือ น้องมิลค์ อายุ 21 ปี ที่เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสกัดจากหมามุ่ยอินเดีย แบบแคปซูล ก่อนที่จะเสียชีวิตในโรงพยาบาลตรัง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา จนเกิดคำถามในสังคมออนไลน์ ว่า เป็นเพราะสมุนไพรหมามุ่ย หรือเพราะสาเหตุอื่น

นพ.วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ตรัง กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ได้เก็บตัวอย่างอาหารเสริมดังกล่าว ส่งให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เพื่อขอให้เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตที่อยู่ใกล้กับ กทม. เพื่อนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงงาน ส่งไปตรวจหาสารประกอบทางห้องปฏิบัติการ กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อแยกแยะว่ามีสารใดอยู่บ้าง โดยเฉพาะสารสกัดจากหมามุ่ยอินเดีย ตามที่กล่าวอ้าง เนื่องจากในแคปซูลตามที่ระบุในฉลาก พบมีสารต่าง ๆ ประกอบอยู่ 6 - 7 ชนิด จึงอาจต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ เพื่อให้ได้ผลแน่นอน และรู้แน่ชัดว่า ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ มีสารสกัดจากหมามุ่ยจริงหรือไม่ และ ได้รับการขออนุญาต จาก อย. หรือไม่

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า รายงานการวิจัยในประเทศอินเดีย เกี่ยวกับเม็ดหมามุ่ย มีศักยภาพเป็นยาได้ ทั้งโรคพาร์กินสัน การบำรุงร่างกาย หรือเพิ่มคุณภาพเชื้ออสุจิ เพื่อช่วยเรื่องการมีบุตรยาก ซึ่งจากการทดลองในหนูทดลองของอินเดีย พบว่า ความถี่ของหนูทดลองหลังรับสารจากหมามุ่ย เห็นความเปลี่ยนแปลงของการร่วมเพศของหนู แต่ในระดับการทดลองในมนุษย์นั้น จะเป็นเรื่องคุณภาพของภาวะมีบุตรยาก โดยพบว่าคุณภาพน้ำเชื้ออสุจิดีขึ้น แต่ในประเทศไทยไม่มีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งหลายอย่างก็ต้องระมัดระวังด้วย

“ปัญหาของประเทศไทย คือ หลงเชื่อข้อมูลสุขภาพง่ายเกินไป โดยไม่มีการตรวจสอบ อย่างคนเมืองจะเชื่อข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ไลน์ ส่วนคนต่างจังหวัดจะเชื่อจากรถเร่ วิทยุชุมชน ดังนั้น ไม่เพียงแต่เรื่องเม็ดหมามุ่ย ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่น ๆ สิ่งสำคัญต้องมีข้อมูลที่ดีพอ โดย 1. จะทำอย่างไรให้คนไทยเรียนรู้และตระหนักถึงอาการแพ้ต่าง ๆ โดยอาการแพ้นั้นส่วนใหญ่จะไม่เกิดกะทันหัน แต่จะมีช่วงเวลาของการเกิดประมาณ 3 - 4 วัน อย่างกรณีหมามุ่ย เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง คนกินอาจมีภาวะแพ้ถั่วก็ต้องระวัง แต่โดยปกติอาการแพ้อาหาร จะไม่เกิดขึ้นเร็ว ก็ต้องมาพิจารณาว่ามีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่” ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า 2. ต้องระวังในเรื่องภัยคุกคาม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกกฎหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม ที่ระบุสรรพคุณทางยา การรักษา หรือแม้กระทั่งการป้องกันโรค ผู้ที่ออกมาเผยสรรพคุณเหล่านี้ ต้องมีใบรับรองถูกต้อง แม้จะเป็นเภสัชกร หรือวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องก็ตาม อย่างน้อยก็เป็นเครื่องการันตีช่วยผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง และ 3. ระบบสาธาณสุขของไทยต้องมีการตื่นตัวมากขึ้น ในการให้ความรู้และป้องกัน ปราบปรามสิ่งเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวมกลุ่มเภสัชกรสมุนไพรขึ้น ซึ่งเป็นเภสัชกรที่ทำงานทั้งด้านยาแแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทยแบบผสมผสาน ซึ่งจะทำให้มีองค์ความรู้รอบด้าน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้สังคมได้

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า สสจ. ตรัง ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่า ผู้เสียชีวิตมีประวัติโรคลมชัก มีการรับประทานยากันชัก โดยแม่ให้ข้อมูลว่าได้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากหมามุ่ยด้วย ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบก็พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขทะเบียน อย. ซึ่ง อย. ก็ไม่เคยให้เลขทะเบียนใด ๆ ที่เกี่ยวกับหมามุ่ยเลย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาหาร หรือยา ส่วนกรณีที่เสียชีวิตคาดว่า เกิดจากการแพ้ยารุนแรง หรือกลุ่มอาการสตีเวนส์ - จอห์นสัน (Stevens - Johnson syndrome) ส่วนจะแพ้สารชนิดใด ขณะนี้ได้ส่งให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
“ที่ไม่เคยให้เลขทะเบียนแก่ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดเกี่ยวกับหมามุ่ย เพราะมีการทำข้อตกลงในกลุ่มประเทศอาเซียน ว่า เม็ดหมามุ่ย เป็นกลุ่มยาสมุนไพร จึงจะไม่มีการออกเลขทะเบียบรับรองการผลิตในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้น ตามท้องตลาดที่มีการขาย และอ้างว่า มีการรับรองจาก อย. ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งต้องไปดูว่ามีการผิดลักษณะใด เช่น หากอ้างเลข อย. ถือว่าเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พัน - 1 แสนบาท  หากพบเพิ่มเติมว่า มีการผสมยาแผนปัจจุบันจะผิดในข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษปรับ 2 หมื่นบาท และจำคุก 2 ปี และหากมีการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 5,000 บาท หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณอาหารโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือ หลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น