น่าน - ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง ทุ่งช้างเมืองน่าน เดินสายร่วมงานบุญ งานเลี้ยง กินลาบหมูดิบได้ 2 วันอาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ช็อกหมดสติ ญาติหามส่งโรงพยาบาลกันวุ่น สุดท้ายอาการหนักติดเชื้อกระแสเลือดขั้นรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย อีก 3 รายยังต้องนอน รพ.ให้หมอดูอาการใกล้ชิด
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายแพทย์ชรินทร์ ดีปินตา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน พร้อมด้วยแพทย์หญิงธัญญาลักษ์ วงศ์คำหล้า แพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว และพยาบาลต้องเฝ้ารักษาดูอาการผู้ป่วยอีก 3 ราย ซึ่งเป็นชาวบ้านจากบ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง และบ้านงอบใต้ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน อย่างใกล้ชิด
หลังกินลาบหมูดิบแล้วมีอาการปวดจุกแน่นท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด และหมดสติ จนถูกหามส่งโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย คือ นายสิงห์ทอง อินทะรังสี อายุ 52 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง ที่อาการรุนแรงติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายสุระศักดิ์ อินทะรังสี ผู้ใหญ่บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง หมู่ 10 ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ซึ่งเป็น 1 ในผู้ป่วยด้วย เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ก่อน ตน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเดินสายร่วมงานเลี้ยง งานบุญ ต่างๆ ที่ได้รับเชิญมาตามหน้าที่ และส่วนใหญ่เจ้าภาพจะทำลาบหมูดิบมาเลี้ยงคนที่มาร่วมงานกัน
แต่หลังร่วมกินลาบหมูดิบในงานเลี้ยงได้ 2 วัน กลับเกิดอาการจุกแน่นท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด ลุกเดินไม่ได้ และหมดสติไปในที่สุด จนญาติต้องนำส่งเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลกันอย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์ระบุว่า เป็นโรคสเตรฟโตคอกคัสซูอิส หรือโรคหูดับ แต่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (นายสิงห์ทอง) อาการหนัก ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในที่สุด
ด้าน นายแพทย์ชรินทร์ ดีปินตา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า ผู้ป่วยเป็นโรคสเตรฟโตคอกคัสซูอิส หรือโรคหูดับ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีในหมูเท่านั้น โดยจะพบเชื้อนี้มากในบริเวณต่อมทอมซิลของหมู คือ ช่วงส่วนระหว่างหู และลำคอของหมู
โดยหมูที่นำมาทำลาบดิบเลี้ยงกันในงานบุญอาจจะป่วยอยู่แล้ว คนที่กินหมูที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไปจะมีอาการมีไข้สูง มีอาการเวียนหัว หน้ามืด อุจจาระร่วง อาเจียน อ่อนเพลีย ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ติดเชื้อในกระแสเลือด ความดันเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เวียนหัวไร้การทรงตัว ไม่มีเรี่ยวแรง ประสาทหูอักเสบ จนกระทั่งหูทั้ง 2 ข้างสูญเสียการได้ยิน ช็อก และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นเร็วมากภายในระยะเวลา 1-2 วันเท่านั้น
สำหรับผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลขณะนี้แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่จะไปทำลายเยื่อหุ้มประสาท และต้องรอดูอาการอย่างใกล้ชิดประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อรักษาในขั้นตอนต่อไป
นายแพทย์ชรินทร์ ย้ำว่า โรคหูดับ เป็นโรคที่อันตรายมาก หากมีอาการรุนแรง และถึงโรงพยาบาลช้าก็อาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้ โดยขณะนี้ได้ส่งทีมควบคุมโรคเข้าตรวจในพื้นที่ พร้อมกับคัดกรองผู้ที่กินลาบหมูดิบในงานดังกล่าวอีกหลายคน เพราะต้องเฝ้าระวังอาการ แต่คาดว่าจะปลอดภัยแล้วทั้งหมด เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทาน และได้รับเชื้อแบคทีเรียน้อย
ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีอัตราการการพบผู้ป่วยโรคหูดับ 4-5 ราย และส่วนมากมีอาการหนัก กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคหูดับ คือ กลุ่มชายวัยกลางคน และผู้สูงอายุกว่าครึ่งของผู้ป่วยมีประวัติดื่มสุราเป็นประจำ และนิยมอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งหากจะปลอดภัยจากโรคหูดับ ต้องปรับวัฒนธรรมการกินใหม่ โดยปรุงอาหารให้สุก และถูกหลักอนามัยก่อนรับประทาน