xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเตรียมเรียกผลตรวจ “ธัมมชโย” พิจารณาออกใบรับรองแพทย์จริงหรือเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทยสภาเตรียมสอบ หมอผู้ออกใบรับรองแพทย์ “ธัมมชโย” เล็งเรียกข้อมูลผู้ป่วยจากแพทย์ที่รักษา และสหคลินิกรัตนเวชประกอบพิจารณา หากไม่ส่งหลักฐานเข้าข่ายออกใบรับรองแพทย์ปลอม มีโทษพักใช้ - เพิกถอนใบอนุญาต

วันนี้ (9 มิ.ย.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะแพทย์ผู้รักษาพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทำหนังสือแจ้งขอให้แพทยสภาเลื่อนการตรวจอาการอาพาธของพระธัมมชโย ก่อนการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ว่า คณะแพทย์ผู้รักษาพระธัมมชโย ทำหนังสือย่างเป้นทางการแจ้งมาแล้วว่า ขอให้แพทยสภาเลื่อนการตรวจอาการอาพาธของพระธัมมชโยออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกหมายจับไปแล้ว การเข้าไปตรวจของแพทยสภาก็ไม่ได้มีผลต่อรูปคดี ก็ไม่จำเป็นต้องส่งแพทย์เข้าไปตรวจอีก ซึ่งจะมีการแจ้งเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการสอบเรื่องใบรับรองแพทย์ของพระธัมมชโย ที่ออกโดย พ.ท.นพ.สิริพงศ์ พัฒนธนาวิสุทธิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี นั้น คณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดเฉพาะกิจ ซึ่งมี นพ.สมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา เป็นประธาน จะดำเนินการเรียก พ.ท.นพ.สิริพงศ์ มาให้ข้อมูล และขอหลักฐานต่าง ๆ เช่น ผลเลือด ผลเอกซเรย์ ผลอัลตราซาวนด์ เป็นต้น จากสหคลินิกรัตนเวช ซึ่งมีข้อมูลของผู้ป่วย เพื่อมาพิจารณาดูว่าใบรับรองแพทย์นั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งแพทยสภามีอำนาจในการเรียกข้อมูลผู้ป่วยตรงนี้ จากแพทย์และคลินิกตามกฎหมาย เหมือนกรณีศาลเรียกข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งหากไม่ส่งหลักฐานมายังแพทยสภา ก็สามารถตัดสินไปได้เลยว่าเป็นใบรับรองแพทย์ปลอม หรือไม่ได้ป่วยจริง เพราะหากป่วยจริงก็จะต้องกล้าส่งหลักฐานต่าง ๆ มาให้พิจารณา ซึ่งหากออกใบรับรองแพทย์ปลอม ก็จะมีโทษพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งถือว่ารุนแรง นอกจากนี้ จะแจ้งไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อให้ทราบว่าแพทย์คนนี้ไม่สามารถทำการตรวจรักษาในสถานพยาบาลบที่ทำการตรวจรักษาอยู่ได้อีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่า จะมีการสร้างหลักฐานปลอมหรือไม่ หากแพทยสภาไม่ได้ลงไปตรวจอาการเอง ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาใบรับรองแพทย์ แพทยสภาก็ไม่ได้ลงไปตรวจเอง เพราะอย่างบางกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว ก็ตรวจเองไม่ได้ ก็อาศัยหลักฐานข้อมูลผู้ป่วยเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา ซึ่งผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าหลักฐานที่ยื่นต่อแพทยสภาเป็นเท็จ ก็จะมีโทษหนักขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น