xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเตรียมส่ง “หมอเชี่ยวชาญ” ตรวจ “ธัมมชโย” พร้อมตั้ง กก.ตรวจสอบ “หมอ” ออกใบรับรองแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทยสภาเตรียมส่ง หมอผู้เชี่ยวชาญ ตรวจอาการอาพาธ “พระธัมมชโย” สัปดาห์หน้า หากเจ้าตัวอนุญาต พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมเฉพาะกิจ ตรวจสอบหมอออกใบรับรองแพทย์ให้พระธัมมชโย หากใบรับรองแพทย์ไม่ตรงทีมหมอผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นเท็จ ต้องมีการลงโทษ

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่แพทยสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา โดยมีวาระการพิจารณากรณีกรมสอบสวนคดีพิศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งหนังสือขอให้แพทยสภาตรวจสอบคุณสมบัติของแพทย์ในการออกใบรับรองแพทย์อาการอาพาธของพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และกรณีทีมแพทย์รักษาพระธัมมชโยร้องขอให้มีการส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจอาการอาพาธของพระธัมมชโย

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นควรให้ส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ปอด โลหิตวิทยา ศัลยแพทย์เส้นเลือด รังสีแพทย์ และผู้แทนจากแพทยสภา รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 7 คน เข้าไปตรวจอาการอาพาธตามที่มีการร้องขอ แต่เบื้องต้นจะต้องทำหนังสือถึงพระธัมมชโยเพื่อขอความยินยอมก่อน เพราะที่ผ่านมาได้รับการร้องขอจากทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น การจะเข้าไปตรวจได้ต้องได้รับการยินยอมจากตัวพระธัมมชโยก่อนในฐานะผู้ป่วย หากได้รับความยินยอมก็คาดว่าน่าจะสามารถเข้าไปตรวจอาการอาพาธที่วัดได้ประมาณปลายสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ต้องยินยอมให้แพทยสภาเปิดเผยข้อมูลบางส่วนได้ด้วย ไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจให้ได้ ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าไปตรวจอาการนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นกลาง ไม่รัก หรือไม่เกลียดพระธัมมชโย แต่ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องส่งรายชื่อผู้เชี่ยวชาญให้วัด หรือผู้ป่วยตรวจสอบก่อน

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีตรวจสอบคุณสมบัติแพทย์ผู้ออกใบรัรองแพทย์นั้น ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ในการออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ โดยมี นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เป็นประธานอนุกรรมการ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข เป็นอนุกรรมการ และ นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ เป็นอนุกรรมการ และ เลขานุการ โดยจะมีการเชิญแพทย์ที่เป็นผู้ตรวจและออกใบรับรองแพทย์ให้พระธัมมชโย ตรวจสอบจากเวชระเบียน ผลการตรวจรักษาเดิม และผลการตรวจโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแพทยสภา มาพิจารณาร่วมกัน หากพบว่าใบรับรองแพทย์ไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่ จะถือว่าเป็นการออกใบรับรองแพทย์เท็จ ต้องมีการลงโทษแพทย์ผู้ที่ออกใบรับรองดังกล่าว อาทิ พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ส่วนกรณีต้นขั้วใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นของโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี กับสถานที่ตรวจจริงนั้น เรื่องนี้เป็นปัญหาภายใน ไม่เกี่ยวกับแพทยสภา

“แต่ในส่วนความรุนแรงของโรคนั้น คงจะเอามาเทียบกันได้ยาก เพราะเราไม่ได้เป็นคนตรวจตอนที่มีการออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งอาการ ความรุนแรงต่าง ๆ นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะมีการดูแล รักษาแล้ว อาการของวันนั้น กับวันนี้จะมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น