ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ค้านสถานศึกษาให้นักเรียน - นักศึกษา ตรวจประเมินสุขภาพจิต ใช้ประกอบการสมัครเรียน หวังคัดกรอง ชี้สุขภาพจิต - อาการทางจิตเวช เปลี่ยนแปลงไปมาได้ เพิ่มภาระ ค่าใช้จ่าย นักเรียนผู้ปครอง และ จิตแพทย์ แนะตรวจเฉพาะรายที่สัมภาษณ์แล้วเห็นความเสี่ยงจะดีกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือ เรื่อง การตรวจประเมินทางจิตเวชเพื่อประกอบการสมัครเข้าศึกษาในสถานศึกษา ถึงหัวหน้าสถานศึกษา ใจความว่า ด้วยสถานศึกษาต่าง ๆ มีแนวโน้มให้นักเรียน นักศึกษาต้องมีใบรับรองจิตแพทย์เพื่อเป็นการคัดกรองนักเรียนที่มีโรคทางจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตก่อนรับเข้าศึกษามากขึ้น ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. ปัญหาสุขภาพจิตและอาการทางจิตเวชนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้ ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเวชขณะแพทย์ตรวจประเมิน ในเวลาต่อไปอาจกลับเป็นปกติได้ ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่แพทย์ลงความเห็นขณะตรวจประเมินว่าปกติ อาจมีความผิดปกติทางจิตเวชในเวลาต่อไปได้เช่นกัน การคัดกรองนักเรียนโดยการประเมินระยะสั้นเพียงครั้งเดียว จึงบอกอะไรได้ไม่มากนัก หากจะมีการตรวจประเมินควรเป็นไปเพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนรายที่เห็นว่ามีความเสี่ยงมากกว่าเพื่อคัดกรอง
2. การกำหนดให้นักเรียนต้องพบจิตแพทย์ หรือต้องได้รับการตรวจประเมินทางจิตวิทยาทุกคนนั้น เป็นการสิ้นเปลืองและสร้างภาระให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองโดยไม่จำเป็น อีกทั้งจิตแพทย์และบุคลากรทางสุขภาพจิตมีภาระงานตามปกติมากเกินกว่าที่จะตรวจประเมินนักเรียนทุกคนได้อย่างครอบคลุมในระยะเวลาจำกัด
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ จึงมีความเห็นว่า สถานศึกษาอาจร้องขอการตรวจประเมินจากจิตแพทย์ในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น โดยต้องมีการประสานงานกับสถานบริการทางจิตเวชล่วงหน้าก่อนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และควรส่งนักเรียนหรือนักศึกษาเพื่อรับการตรวจประเมินเฉพาะรายที่สถานศึกษาได้สัมภาษณ์ โดยเบื้องต้นแล้วเห็นว่าอาจมีปัญหาทางจิตเวช เพื่อความสะดวกแก่นักเรียนและผู้ปกครอง และไม่เป็นการรบกวนการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนตามปกติของสถานบริการสุขภาพนั้น ๆ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่