xs
xsm
sm
md
lg

โรคจิตเภทรักษาหายได้ แนะวิธีสังเกตสัญญาณเตือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โรคจิตเภทรักษาหายได้ เผย สัญญาณอันตรายของโรคต้องรีบพบแพทย์ ชี้ปล่อยให้อาการหนัก รักษาไม่ถูกต้องเสี่ยงก่อความรุนแรง ตอกย้ำภาพลบผู้ป่วยจิตก่ออาชญากรรม ทั้งที่จริงก่อเหตุน้อยไม่ถึง 5%

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคจิตเภท เป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยจิตเภท 26 ล้านคน ร้อยละ 90 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการบำบัดรักษา สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 4 แสนราย แต่เข้าถึงการรักษาเพียง 60% อย่างไรก็ตาม โรคจิตเภทสามารถรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ และเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการได้รับแรงสนับสนุน จากครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งการดูสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการใช้สารเสพติด เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการของโรครุงแรงขึ้น

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากสารเคมีในสมองผิดปกติ หรือพันธุกรรม การปรากฏอาการอาจถูกกระตุ้นจากภาวะความกดดันทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเสพสารเสพติด สัญญาณเตือนที่สำคัญ คือ อาการไม่สนใจตัวเอง บางครั้งนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว มีความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง มีอาการหลงผิด คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน ทั้งที่ในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้งการเห็นภาพหลอน ซึ่งต้องรีบพาไปพบแพทย์ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลกระทบ ทำให้ตกงาน คุณภาพชีวิตเสื่อมถอย รายที่อาการหนักแต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้มีความหวาดระแวงสูง เพราะกลัวคนอื่นมาทำร้าย และนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงทำให้สังคมหวาดกลัว ซึ่งยิ่งตอกย้ำตราบาปให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ทั้งที่จริงแล้วผู้ก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรง เป็นผู้ป่วยจิตเภทน้อยมากไม่ถึง ร้อยละ 5 จึงอยากวอนขอให้สังคมเลิกตีตราและเหมารวม ว่า ผู้มีปัญหาทางจิตจะต้องเป็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมและความรุนแรงเสมอไป

“หากพบเห็นผู้ที่มีอาการทางจิตที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ส่วนการส่งภาพหรือข้อมูลผู้ป่วยถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญหลังการรักษาตัวที่โรงพยาบาล คือ เมื่อผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนสังคมและครอบครัวจะต้องช่วยกัน ป้องกันอาการกำเริบ และการป่วยซ้ำ เพราะจะนำไปสู่การป่วยเรื้อรังที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำเริบซ้ำ ได้แก่ การกินยาไม่ต่อเนื่อง ดื่มสุรา เสพสารเสพติดร่วมด้วย มีปัญหาความสัมพันธ์และการใช้อารมณ์ในครอบครัว ผู้ดูแลไม่มีศักยภาพเพียงพอ มีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีอาชีพ รายได้ หรือที่อยู่อาศัย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น