xs
xsm
sm
md
lg

“ไบโพลาร์” ติดท็อป 3 โรคทางจิต เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โรคไบโพลาร์ ติดท็อป 3 โรคทางจิตเวชของไทย โอกาสฆ่าตัวตายสูง พบมักมีการสั่งเสีย เตรียมตัวล่วงหน้า หากพบสัญญาณให้รีบส่ง รพ. ย้ำครอบครัว คนใกล้ชิดสำคัญในการดูแล ช่วยผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติ

วันนี้ (29 มี.ค.) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 30 มี.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) ซึ่งโรคไบโพลาร์หรืออารมณ์ 2 ขั้วนั้น สามารถพบได้ 1 - 2% ในจำนวนกลุ่มโรคทางจิตเวช การรักษาพื้นฐาน คือ การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ 100% และดำเนินชีวิตในสังคมได้ดี แต่หากไม่ได้รับประทานยาจะมีอาการกำเริบซ้ำได้ 80 - 90% โดยมีตัวกระตุ้นหลายอย่าง อาทิ ขาดยา ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ นอนไม่หลับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ดังนั้นคนใกล้ชิดจะต้องช่วยกันดูแลและป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติคนไข้ในของโรงพยาบาลศรีธัญญาลดลง โดยไบโพลาร์จัดอยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มจิตเวชที่เข้ามารับการรักษา รองจากโรคจิตเภท ส่วนอัตราผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2558 มีผู้ป่วยโรคจิตเวชอยู่ที่ 117,000 ราย ส่วนใหญ่มาจาก กทม. และ นนทบุรี ซึ่งโรคไบโพลาร์เป็นอันดับที่ 3 มีจำนวน 9,100 ราย รองจากโรคจิตเภท และซึมเศร้าตามลำดับ

นพ.สันติชัย ฉ่ำจิตรชื่น รอง ผอ. โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า โรคไบโพลาร์เกิดจากภาวะสารสื่อประสาทผิดปกติ เมื่ออาการกำเริบจะทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ 2 ขั้ว คือ 1. ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร 2. ครึกครื้น พูดมาก ใช้จ่ายเงินเปลือง ไม่นอน บางครั้งทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเอง สามารถรักษาได้ด้วยยาเป็นหลัก แต่หากอาการรุนแรงอาจจะต้องรักษาด้วยไฟฟ้า ส่วนมากเป็นในกลุ่มอายุ 20 - 30 ปี ประมาณ 8 - 9 ใน 10 คนมีโอกาสกลับมาป่วยซ้ำ ทั้งนี้ โรคดังกล่าวมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย และมีส่วนหนึ่งที่สำเร็จ และพบว่าคนที่ต้องการฆ่าตัวตายจะมีการเตรียมตัวเอาไว้ล่วงหน้า ทำการสั่งเสีย หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมเช่นนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพช่วยเหลือจะดีที่สุด นอกจากนี้ อยากให้หยุดแชร์ภาพผู้ป่วยในโซเชียลมีเดีย เพราะจะเป็นการซ้ำเติมและทำให้ผู้ป่วยเครียดมากเมื่อหายดีแล้ว

นพ.จุมพล ตัณฑโอภาส ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการและดูแลผู้ป่วยอารมณ์ 2 ขั้ว กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยโรคไบโพลาร์คนใกล้ชิดมีความสำคัญที่สุด และมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติให้นานที่สุด เช่น ดูแลเรื่องการกินยา เป็นที่ปรึกษา 2. ให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และ 3. สังเกตอาการเริ่มต้น เช่น ช่วงการพักผ่อน การทำกิจกรรมเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีสาเหตุ อารมณ์ขึ้น - ลง อย่างแตกต่าง เป็นต้น หากมีสัญญาณเหล่านี้ให้รีบติดตามเรื่องการรับประทานยา และพามาพบแพทย์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น