วัยแรงงานไทยป่วยปัญหากระดูก - กล้ามเนื้อสูง แนวโน้มป่วยโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น พบอายุ 15 - 19 ปี ตายจากอุบัติเหตุมากสุด พบภาวะเครียดจากโรค - หนี้สินกว่า 6 พันราย สธ. จัดคลินิกโรคจากการทำงานใน รพศ. กว่า 97 แห่ง แนะกินมื้อเช้า ออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ
วันนี้ (27 เม.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานที่มีงานทำจำนวน 37.61 ล้านคน และพบ 1 ใน 10 ของประชากรวัยแรงงานมีปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลโรคจากการประกอบอาชีพปี 2553 -2557 ว่า มีปัญหาเรื่องกระดูกและกล้ามเนื้อ 72.26 ต่อแสนประชากร โรคพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช 12.21 ต่อแสนประชากร และมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ระหว่างอายุ 15 - 19 ปี สาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด รองลงมาคือ มะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด ในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด รองลงมาโรคหัวใจและหลอดเลือดและอุบัติเหตุ เป็นต้น
“นอกจากนี้ ยังพบมีปัญหาสุขภาพจิต ส่วนใหญ่มีภาวะเครียด วิตกกังวลจากโรคเรื้อรัง และภาวะหนี้สิน 6,231 ราย และมีปัญหาทางจิตเวช 4,845 ราย ปัญหาความรัก 1,600 ราย และปัญหาสัมพันธภาพในที่ทำงาน ต้องการเปลี่ยนงาน 256 ราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพอาการที่ค่อนข้างร้อนจัด ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่ทำงานกลางแจ้งดูแลสุขภาพ และระวังโรคที่เกิดจากความร้อนด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.บุญเลิศ ศักดิ์ชัยนานนท์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในส่วนของแรงงานในระบบประกันสังคม สธ. ได้มีการจัดโครงการสถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข ซึ่งมีสถานประกอบการเข้าร่วม 1,800 แห่ง ผ่านการประเมิน 300 แห่ง เปิดคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 97 แห่ง คัดกรอบโรคก่อนส่งรักษาตามสิทธิ ส่วนแรงงานงานนอกระบบได้มีการตั้งคลินิกอาชีวะอนามัยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อคัดกรองปัญหาสุขภาพหากพบผิดปกติจะส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายบังคับให้สถานประกอบการต้องตรวจสุขภาพลูกจ้างปีละ 1 ครั้งก็จริง แต่ที่ผ่านมาขาดการนำตัวเลขมาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างฐานข้อมูลดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย
นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ นักวิชาการสาธารณสุข ด้านโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนเน้นการรับประทาเน้นการรับประทานอาหารเช้าด้วยเพราะเป็นมื้อที่สำคัญ หากไม่รับประทานจะทำให้ร่างกายขาดน้ำตาล ทำให้อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว กระทบต่อการทำงานได้ ส่วนมื้อกลางวันขอให้รับประทานตามปกติเลี้ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่นเดียวกับมื้อเย็นซึ่งไม่ได้ทำงานแล้วร่างกายต้องการพักผ่อนขอให้เลี่ยงอาหารไขมันสูง ในทุกมื้อขอให้รับประทานผลไม้อย่างน้อย 8 - 10 ชิ้น ระหว่างวันให้ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 แก้ว ขอให้ขยับร่างกายบ้าง หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับไม่เกิน 22.00 น.
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่