กรมควบคุมโรค เตือนเก็บเห็ดป่าหน้าฝน เสี่ยงเจอ “เห็ดพิษ” อันตรายถึงตาย เผย ปี 58 ป่วยพันกว่าราย ตาย 10 ราย ศูนย์พิษวิทยา กรมวิทย์ พัฒนา “เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ด” ช่วยแยกเห็ดพิษรวดเร็ว เตรียมต่อยอดเป็นชุดทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้น
วันนี้ (30 พ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน ซึ่งมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ แต่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 14 พ.ค. 2559 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 65 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนปี 2558 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ จำนวน 1,316 ราย เสียชีวิต 10 ราย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน มิ.ย.- ก.ย. พบผู้ป่วยรวมกันมากถึง 985 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ทั้งนี้ เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ หรือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือ เห็ดไข่ตายซาก มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือ ไข่ห่าน ที่สามารถกินได้ สำหรับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนําไปต้มกับข้าวสาร เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้
นพ.อำนวย กล่าวว่า อาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือ ถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ นัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมา คือ การทำงานของตับ และไตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือ กรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ลักษณะภายนอกของเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้บางชนิด มีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะระยะดอกอ่อนของเห็ด จะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่า และภูมิปัญญาทดสอบเห็ดพิษที่สอนสืบทอดกันมาไม่สามารถให้ผลถูกต้องทั้งหมด จึงไม่ควรนำมาปฏิบัติ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทย์ ได้ประเมินสถานการณ์การเกิดพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษในประเทศไทย ช่วงปี 2551 - 2558 พบว่า ปริมาณสารพิษที่สามารถทำให้คนตายได้เท่ากับ 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการรับประทานเห็ดสดประมาณครึ่งดอก จัดว่าเป็นสารพิษในเห็ดร้ายแรงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นการต้ม ทอด ย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้ เนื่องจากพิษทนความร้อน
“ศูนย์พิษวิทยา ได้พัฒนาวิธีการตรวจสายพันธุ์เห็ดพิษ โดยใช้เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ด (DNA barcoding) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิต โดยใช้ชิ้นส่วนดีเอ็นเอมาตรฐานเทียบ กับฐานข้อมูลอ้างอิงทางพันธุกรรม ซึ่งผลการศึกษาการใช้เทคนิคดังกล่าวพบว่าให้ผลวิเคราะห์สายพันธุ์เห็ดพิษที่ถูกต้องแม่นยำสูง และเชื่อถือได้ เทียบเท่าการตรวจด้วยเครื่องมือชั้นสูง LC-MS นอกจากนี้ ยังช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน จัดทำเป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมระดับโมเลกุลของเห็ดพิษในประเทศไทยและจะมีการพัฒนาเป็นชุดทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้นต่อไป เพื่อให้ประชาชนสามารถนำมาใช้งานได้” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่