xs
xsm
sm
md
lg

อย.ลุยตรวจ “ปลาดิบ” หวั่นย้อมสี-มีเชื้อโรค หลัง ผอ.ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำโพสต์เตือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม
อย. เตรียมขอข้อมูล ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ตรวจสอบย้อมสี “ปลาดิบ” พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลุยตรวจร้านอาหาร 5 แห่งใน กทม. ตรวจหาการย้อมสี เชื้อก่อโรคในปลาดิบ ย้ำ กม. ห้ามใส่สีผสมในเนื้อสัตว์ รวมถึงสีผสมอาหาร แนะสังเกตสีเนื้อปลาก่อนทาน สีผิดจากธรรมชาติ แดงจัด ชมพูจัดอย่าบริโภค

จากกรณี รศ.สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์รูปภาพการนำเนื้อปลาโอจากร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังมาทดลองในแล็บ เนื่องจากมีสีสดเกินไปจึงไม่กล้ารับประทาน โดยพบว่าแช่น้ำไม่กี่นาที มีสีละลายออกมาชัดเจน จึงมีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องย้อมสี ส่วนการเพาะเชื้อต้องรอผลตรวจ 2 - 3 วัน
ภาพจากเฟซบุ๊ก Dr. Nantarika Chansue
ล่าสุด วันนี้ (26 พ.ค.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวกรณีดังกล่าว ว่า ขณะนี้กำลังประสานขอข้อมูลอยู่ และจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป นอกจากนี้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่สำนักอาหาร ลงพื้นที่สุ่มตรวจปลาดิบในร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังหรือภัตตาคาร โดยสุ่มตรวจจำนวน 5 แห่งในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในเขต กทม. เพื่อเก็บตัวอย่างส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาตรวจวิเคราะห์หาสีผสมในเนื้อปลาดิบ และตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค คาดว่าจะได้ผลภายใน 1 สัปดาห์

“สำหรับปลาดิบ ถือเป็นอาหารสด ซึ่งตามกฎหมายต้องไม่มีสารปนเปื้อน และต้องไม่ผสมสีใด ๆ ทุกชนิด แม้แต่สีผสมอาหาร หากตรวจพบจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากตรวจพบผลิตภัณฑ์มีการใช้สีในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น สีย้อมผ้า สีย้อมอวน หรือการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.ไพศาล กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ก่อนเลือกซื้อเลือกบริโภคปลาดิบตามร้านอาหารต่าง ๆ ขอแนะนำให้ประชาชนสังเกตลักษณะสีของเนื้อปลา ควรเป็นสีของเนื้อตามลักษณะธรรมชาติ กลิ่นไม่ผิดปกติสภาพเนื้อปลาต้องไม่ยุ่ย หากตรงข้ามที่กล่าว ต้องหลีกเลี่ยงอย่าสั่งซื้อมาบริโภคเด็ดขาด เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ควรสังเกตร้านอาหารต้องถูกสุขลักษณะด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่สงสัยว่า มีใส่สารเจือปนที่เป็นอันตราย หรือไม่ได้มาตรฐานสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือรองเรียนผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหา เพื่อ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะร่วมมือกันเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภค

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น