ต่างชาติรุมติง “ไทย” ออกประกาศคุมโรควัวบ้าเกินมาตรฐานโอไออี แวดวงสาธารณสุขตั้งคำถามคุมเข้มงวดป้องกันโรคไม่ดีหรือ ด้าน อย. รับมีการหารือปรับแก้เกณฑ์ เล็งหารือปศุสัตว์ ปรับลดมาตรการไม่ให้เกิดโรคระบาด
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอาหาร ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีการพิจารณาการปรับเปลี่ยนประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2559 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำเข้าอาหารที่มีความเสี่ยงจากโรควัวบ้า ซึ่งจะควบคุมการนำเข้าอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งกะโหลก กระดูกสันหลังของวัว เนื่องจากมีหลายประเทศ มองว่า ประกาศดังกล่าวเข้มงวดเกินไป และไม่เป็นไปตามมาตรฐาสากลขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties; OIE) ทำให้เกิดคำถามว่า การควบคุมเช่นนี้ไม่ดีหรืออย่างไร และหากยกเลิกประกาศจะส่งทำให้ประเทศไทยเสี่ยงรับเชื้อวัวบ้าหรือไม่
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ประกาศฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2559 บังคับใช้จริง ก.ค. 2559 โดยเป็นประกาศเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้าเนื้อโคในกลุ่มประเทศต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามความเสี่ยง คือ 1. กลุ่มประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากโรควัวบ้าน้อยมาก 2. กลุ่มประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากโรควัวบ้าที่ควบคุมได้ และ 3. กลุ่มประเทศ หรือ พื้นที่ที่ยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงจากโรควัวบ้า ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีเกณฑ์การควบคุมโรคที่แตกต่างกันไป อาทิ เนื้อถอดกระดูก ต้องได้จากโคที่ผ่านขั้นตอนการฆ่าและชำแหละ แต่ต้องผ่านการตรวจโรคก่อน เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีรายละเอียดอีกมาก
“หลังจากออกประกาศดังกล่าว ไทยจำเป็นต้องทำหนังสือเวียนไปยังประเทศต่าง ๆ ปรากฏว่า มีเสียงท้วงติงว่า เหตุใดไทยจึงไม่ดำเนินการตามโอไออี เพราะการออกประกาศของทุกประเทศต้องเป็นไปตามโอไออี ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันในคณะกรรมการอาหาร แต่ยังไม่ได้มีมติแก้ประกาศแต่อย่างใด เพียงแต่หารือว่าจำเป็นต้องปรับแก้ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ มีโอกาสที่เราจะปรับหลักเกณฑ์ลงได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันโรควัวบ้าก็ไม่มี และไทยก็ไม่พบโรคนี้ แต่เราก็ยังเป็นห่วง จึงต้องไม่ประมาท ดังนั้น จึงได้มีการหารือกับทางกรมปศุสัตว์ขอให้ช่วยในเรื่องข้อมูลยืนยันว่า หากลดมาตรการใดมาตรการหนึ่ง จะมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะไม่เกิดการระบาดของโรควัวบ้า และเราจะมั่นใจในมาตรฐานของโอไอดีแค่ไหน” นพ.บุญชัย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่