สธฉ. หนุนซักซ้อมรับมือภัยพิบัติใน ร.ร. แนะ 5 วิธีเอาตัวรอดเบื้องต้นเหตุเพลิงไหม้ ย้ำ มีสติ เตือนคนในอาคาร แจ้งเหตุฉุกเฉินดับเพลิง หากมีเวลาให้ช่วยดับเพลิงเบื้องต้น ลดความรุนแรงเหตุไฟไหม้ หากคุมไม่อยู่ให้รีบออกจากตึก
จากกรณีเหตุเพลิงไหม้หอพักนักเรียนหญิงโรงเรียนพิทักษ์เกียรติ ต.เสียงป่าเป้า อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จนมีผู้เสียชีวิต 17 ราย ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปจัดทำคู่มือเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติที่เกิดในแต่ละพื้นที่ และมีการซักซ้อมการหนีไฟในโรงเรียนด้วยนั้น
นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจะมีการซักซ้อมเพื่อรับมือเหตุอัคคีภัย และมีการทำสื่อให้ความรู้ แต่ในส่วนของโรงเรียนและหอพักอาจยังไม่มี ดังนั้น การที่ ศธ. จะทำคู่มือเตรียมความพร้อมถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยอาจขอทีมวิทยากรมาช่วยให้ความรู้ เช่น โรงพยาบาล หน่วยดับเพลิง เป็นต้น ในการมาให้ความรู้และซักซ้อมเมื่อพบกับเหตุอัคคีภัย ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่เพียงเฉพาะแต่กรณีอัคคีภัยเท่านั้น แต่รวมถึงภัยพิบัติอื่น ๆ ด้วย คนไทยยังไม่มีความรู้และทักษะในการเอาตัวรอดที่ถูกต้อง หากทำเป็นหลักสูตรโดยเฉพาะให้กับนักเรียนเพิ่มเติมจากหลักสูตรภาคบังคับก็ถอเป็นเรื่องที่ดี ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องพยายามสื่อสารให้ความรู้ที่ถูกต้อง อย่างการจมน้ำ ก็มักจะเห็นการช่วยเหลือที่ผิดวิธีอยู่เสมอ เช่น การจับเด็กพาดบ่าแล้วเขย่า ก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เป็นต้น
นพ.อนุรักษ์ กล่าวว่า สำหรับการเอาตัวรอดในเหตุเพลิงไหม้นั้น คือ 1. ตั้งสติ จากนั้นดูว่ามีการแจ้งเตือนอัคคีภัยแล้วหรือไม่ หากยังให้รีบกดกริ่งสัญญาณเพื่อเตือนให้คนในอาคารรับทราบ และแจ้งหน่วยดับเพลิงตามหมายเลขที่จะมีแจ้งไว้ในอาคาร 2. หากมีเวลาเพียงพอสามารถใช้อุปกรณ์ดับเพลิงช่วยดับเพลิงเบื้องต้น ระหว่างรอทีมดับเพลิง แต่หากเห็นว่าควบคุมไม่ได้ หรืออยู่ไม่ได้แล้วให้รีบออกจากอาคาร 3. หากมีเวลาเพียงพอ อาจช่วยลดการลุกลามของเปลวเพลิงได้ด้วยการปิดหน้าต่าง เพื่อลดออกซิเจนที่จะเข้ามาในอาคาร หรือตัดคัตเอาต์ หรือแยกสิ่งที่จะเป็นเชื้อเพลิงออกมา เช่น แอลกอฮอล์ หรือวัสดุที่ติดไฟง่าย เพื่อลดความรุนแรงของเพลิงไหม้ 4. การหนีออกนอกอาคารให้พยายามหนีลงไปข้างล่าง ไม่ขึ้นข้างบน และห้ามใช้ลิฟต์ 5. พยายามมอบต่ำ เพราะควันไฟจะลอยขึ้นสูง หากมีเวลาสามารถหาผ้าชุบน้ำมาปิดหน้า เพื่อป้องกันการสูดเอาควันเข้าไปมากเกินไปได้
“คำแนะนำดังกล่าวถือเป็นหลักการเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การแจ้งเหตุไปยังหน่วยดับเพลิงให้ทราบ ซึ่งข้อมูลต้องแจ้งให้ละเอียด เพราะจะมีผลต่อการวางแผนในการส่งรถดับเพลิงและทีมผจญเพลิงเข้ามาช่วยเหลือ” นพ.อนุรักษ์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่