xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.รับ “คู่มือภัยพิบัติ” ใช้สถานการณ์จริงไม่ได้ จ่อปรับปรุงใหม่ ขยายแผนซักซ้อมทุก ร.ร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฐ. รับ “คู่มือภัยพิบัติ” ใช้การไม่ได้ในสถานการณ์จริง เร่งปรับรูปแบบเป็นโปสเตอร์ แผ่นพับ อธิบายขั้นตอนเอาตัวรอดอย่างง่าย เผย ซักซ้อมภัยพิบัติแค่โรงเรียนจุดเสี่ยง เล็งกำหนดโรงเรียนทุกแห่งต้องส่งแผนซักซ้อม พร้อมรายงานผล

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้หอพักนักเรียนหญิงโรงเรียนพิทักษ์เกียรติ ต.เสียงป่าเป้า อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จนมีผู้เสียชีวิต 17 ราย ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปจัดทำคู่มือเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติที่เกิดในแต่ละพื้นที่ และมีการซักซ้อมการหนีไฟในโรงเรียนด้วยนั้น

นายธีร์ ภวังคนันท์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า สพฐ. มีจัดทำคู่มือรับมือภัยพิบัติอยู่แล้ว แต่จากการหารือในที่ประชุม เบื้องต้นมองว่าเป็นเอกสารที่เมื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วอาจเปิดไม่ทัน จึงจะมีการปรับคู่มือเหล่านี้ใหม่ โดยอาจจะทำในรูปแบบโปสเตอร์ แผ่นพับ เพื่อเป็นขั้นตอนปฏิบัติให้สะดวกขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการ ตามนโยบายของ รมว.ศธ. และ เลขาธิการ สพฐ.

“ในอดีตจะมีการสอนเรื่องการเอาตัวรอดในเหตุภัยพิบัติเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงในการเกิดเหตุ เช่น ตามแนวรอยเลื่อน เป็นต้น จุดที่ไม่มีความเสี่ยงก็ไม่ได้มีการสอน แต่หลังจากเกิดเหตุสึนามิเมื่อปี 2547 ก็มีการสอนที่เข้มและลึกมากขึ้น ส่วนกรณีที่เกิดเหตุขึ้นกับ ร.ร.พิทักษ์เกียรติ จ.เชียงราย นั้น ไม่ทราบว่าโรงเรียนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ แต่โรงเรียนในสังกีด สพฐ. จะมีการซักซ้อมร่วมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อยู่เป็นประจำ ว่า เมื่อเวลาเกิดเหตุโรงเรียน นักเรียน และครูจะปฏิบัติตัวอย่างไร แต่ยอมรับว่ายังจำเพาะอยู่พื้นที่ที่มีสถานการณ์ล่อแหลม จุดเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ” นายธีร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการขยายการซักซ้อมการเอาตัวรอดเหตุภัยพิบัติในทุกโรงเรียนทั่วประเทศหรือไม่ เพราะเหตุภัยพิบัติไม่สามารถทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด นายธีร์ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงก็มีการสั่งการให้ทำแผนซักซ้อมรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ แต่จะซักซ้อมมากน้อยแค่ไหน เรายังไม่ตามชัดเจน ซึ่งหลังจากนี้ อาจต้องมีมาตรการที่ชัดเจน โดยทุกโรงเรียนจะต้องส่งแผนการรับมือและซักซ้อมการเผชิญเหตุภัยพิบัติ กำหนดวันดีเดย์การซักซ้อมให้ชัดเจน และต้องรายงานผลการปฏิบัติด้วย นอกจากนี้ สพฐ. จะเพิ่มความเข้มข้นการซักซ้อม และยกระดับการเตรียมความพร้อมในหอพักนอนด้วย สำหรับงบประมาณการซักซ้อมนั้นไม่ได้ใช้งบมาก อยู่ในวิสัยที่งบประมาณของโรงเรียนรับได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น