xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห้ามญาติคนไข้ใช้พัดลมไอน้ำใน รพ. เสี่ยงแพร่เชื้อโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ. ยัน รพ. ในสังกัดไม่ใช้พัดลมไอน้ำ ป้องกันแพร่เชื้อโรค ขอความร่วมมือญาติคนไข้ ไม่นำมาใช้ในหอผู้ป่วย แนะประชาชนทำความสะอาดแอร์ ล้างพัดลมไอน้ำ เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ

วันนี้ (15 พ.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการใช้พัดลมไอน้ำในโรงพยาบาลเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคลีเจียนแนร์ ว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ใช้พัดลมไอน้ำทั้งที่ตึกผู้ป่วยนอก (โอพีดี) และหอผู้ป่วยตามคำแนะนำของสถาบันบำราศนราดูร เนื่องจากหากไม่ได้บำรุงรักษาทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำของพัดลมไอน้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อลีเจียนแนร์ และแพร่กระจายโรคนี้รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ จากละอองไอน้ำได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลมีอาการเจ็บป่วยร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานร่างกายต่ำอาจติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังพบเชื้อนี้ได้ในเครื่องปรับอากาศบ่อพักน้ำหอผึ่งเย็น จึงได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลีจิโอเนลลาโดยตรวจสอบระดับคลอรีนตกค้างของน้ำในบ่อพักทุกวันต้องไม่น้อยกว่า 0.2 ppm. น้ำในระบบน้ำร้อนรวมต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และน้ำที่ส่งออกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ส่วนระบบปรับอากาศให้ใช้คลอรีนเข้มข้น 10 ppm.ในท่อที่ไปหอผึ่งเย็น 3 - 6 ชม. ให้ทั่วถึงทั้งระบบและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 1 - 2 สัปดาห์ รวมทั้งทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำและแช่ฝักบัวด้วยสารละลายคลอรีนเข้มข้น 10 ppm. หรือแช่น้ำร้อน65องศาเซลเซียสนาน 5 นาที

“โรคนี้รักษาได้ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน ไม่รุนแรงเหมือนโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ในประเทศไทยมีรายงานพบโรคนี้ประปราย ประชาชนไม่ควรกังวลมากเกินไป อีกทั้งคนทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วยใด ๆ กลุ่มเสี่ยงป่วยด้วยโรคนี้ คือ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง โดยอาการเกิดขึ้น 2 ลักษณะ คือ อาการเบาจนถึงหนัก โดยอาการเบาจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน ในทางการแพทย์เรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) แต่หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต จะเรียกว่าโรคลีเจียนแนร์ ประการสำคัญที่สุด คือ หากมีอาการเจ็บป่วยคล้ายกับอาการที่กล่าวมา หรือ หลังกลับจากท่องเที่ยว ขอให้นึกถึงโรคลีเจียนแนร์ และให้ไปพบแพทย์และเล่าประวัติให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็หายขาด” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยสภาพอากาศร้อนจัด ญาติมีความเป็นห่วงผู้ป่วยจึงมักขอนำพัดลมไอน้ำมาใช้เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวขึ้นจึงขอความร่วมมือให้ใช้พัดลมระบบแรงลมทั่ว ๆ ไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคลีเจียนแนร์ และขอแนะนำประชาชนให้ดูแลล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศที่บ้านให้ทำความสะอาดท่อหล่อเย็น หรือ ถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ อย่าให้มีน้ำ ขัง เปียกชื้น ควรทำให้แห้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคส่วนพัดลมไอน้ำไอเย็นให้ล้างภาชนะบรรจุน้ำอย่าปล่อยให้มีตะไคร่น้ำและเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ เนื่องจากเชื้อจะถูกทำลายได้ด้วยคลอรีนหากล้างและเติมน้ำประปาที่มีคลอรีนตามเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยทำลายเชื้อนี้ได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น