“ความเห็นอีกด้านเรื่องอาการป่วยของปอ นักข่าววุ่นวายมากเสียงดังเบียดเสียดยัดเยียด แย่งที่จอดรถคนไข้วันละ 20 ที่แช่มันวันละสิบกว่าชั่วโมง กินน้ำทิ้งขวดเลอะเทอะ ห้องน้ำเละเทะ มาอยู่กันแออัด ร้อนก็โวยวายขอพัดลม โทรเข้าระรัว พยาบาลต้องรับโทรศัพท์ไม่เป็นอันทำงาน ต้องเสีย รปภ. มาเฝ้า 2-3 คน เจ้าหน้าที่ ญาติคนไข้คนอื่นจะเดินเข้าก็ลำบากมาก มะลิก็เอาเด็กมาแกร่วโรงพยาบาลทั้งวันทำไม โรงพยาบาลไม่ใช่ศูนย์การค้า มีแต่เชื้อโรค นักข่าวมันถือว่ามีสื่ออยู่ในมือ กร่าง อยากถามสังคมว่า สิทธิผู้ป่วยรายอื่นอยู่ตรงไหน หรือไม่สำคัญไม่ใช่คนดัง เลยไม่ต้องแคร์”
เป็นกระแสดรามาขึ้นมาทันทีหลัง “พญ.เยาวนุช คงด่าน” อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกโรงโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์ถึงปฏิกิริยาการทำงานของสื่อมวลชนทั้งกองทัพนักข่าวและช่างภาพที่มาเฝ้าอาการของพระเอกหนุ่ม “ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์” ถึงการปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม ปักหลักยึดพื้นที่โรงพยาบาลถาวร ส่งเสียงดังโวยวาย มาเฝ้ากันอยู่อย่างแออัด ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ใช้ห้องน้ำกันอย่างสกปรก อีกทั้ง ในส่วนของน้องมะลิเองก็ไม่สมควรที่จะมาอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ว่าเหล่าสื่อมวลชนที่มานั่งเฝ้าทำข่าวใช้ห้องน้ำกันอย่างสกปรกเพราะต้องแย่งกันใช้ ทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค จากประเด็นร้อนระอุข้างต้น ทีมข่าว ผู้จัดการ Live จึงลงสำรวจพื้นที่ที่ชั้น 9 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อหาข้อเท็จจริงดังกล่าว หลังจากการตรวจสอบภายในห้องน้ำบริเวณชั้น 9 ที่พระเอกหนุ่มพักรักษาตัวอยู่นั้นมีอยู่ 2 ห้องด้วยกันพบว่าสะอาดดี
จากการสอบถามผู้ดูแลตรงส่วนนี้ได้รับคำตอบกลับมาว่ามีความวุ่นวายเพิ่มจากเมื่อก่อนเพราะมีสื่อมวลชนมาปักหลักทำข่าวเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง เมื่อหมดเวลาเฝ้าอาการพระเอกหนุ่มแล้ว สื่อมวลชนก็ไม่ได้ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดบริเวณพื้นที่ดังกล่าว
“ห้องน้ำสกปรกก็น่าจะมีนะคะ แต่อันนี้เป็นส่วนของแม่บ้าน ความวุ่นวายแต่ก่อนก็ไม่ถึงขนาดนี้ ถ้าเป็นแฟนคลับก็จะขึ้นมาเยี่ยมแล้วก็ลงไป ตอนนี้ก็ย้ายจุดเยี่ยมไข้และให้กำลังใจไปที่ชั้น 1 แล้ว ในส่วนของสื่อมวลชนจะเปิดให้สื่อมาเฝ้าถึง 2 ทุ่ม แต่ตอนมาก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน พี่ก็ประจำอยู่จุดนี้ทุกวัน ตอนทยอยกันกลับพวกขยะ ขวดน้ำก็มีบ้างค่ะ มีทุกวัน แต่ตรงนี้ก็เป็นในส่วนของแม่บ้านที่เขาจะต้องทำความสะอาด”
ทันทีที่ก้าวออกจากลิฟต์พบบรรยากาศของเหล่าสื่อมวลชนอยู่กันอย่างสงบไม่มีทีท่าว่าจะส่งเสียงดังโวยวายใดๆ ตามที่ข่าวได้เสนอไปแล้วนั้น ทางทีมข่าวจึงลองสอบถามนักข่าวคนหนึ่งเพื่อฟังอีกมุม เธอกล่าวว่าสื่อมวลชนทุกคนอยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้และไม่ได้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างที่ถูกกล่าวหา
“เราไปเฝ้าตามอาการ เราทำงานค่ะ ทุกคนมีหน้าที่ต่างกัน รับผิดชอบต่างกัน ถ้าคุณไม่พอใจในการทำงาน คุณชี้แนะหรือเขียนมากันดีๆ ก็ได้ค่ะ ไม่ใช่เขียนด่ากันสนุกปาก นักข่าวโง่ นักข่าววุ่นวาย เราคนทำงานมาเจอแบบนี้ก็บั่นทอนจิตใจค่ะ ตอนนั่งเฝ้าหน้าห้อง ถ้าเริ่มมีเสียงดังก็มีพี่ๆ ที่เป็นนักข่าวรุ่นพี่ คอยปรามว่าเงียบเสียงลงหน่อย แต่คือมันไม่ได้ดังมากขนาดรบกวนขนาดนั้น ทุกคนนั่งอยู่ในที่ที่จัดไว้ให้ ไม่มีไปล้ำเส้น ถ้าจะมีก็ตอนที่น้องมะลิออกมา”
นักข่าวสาวคนดังกล่าว ยังกล่าวต่ออีกว่าการที่มีบางกระแสกล่าวหาว่านักข่าวบังคับให้น้องมะลิเต้น หรือทำโน่นทำนี่นั้นไม่เป็นความจริง เหมือนหนังคนละม้วนด้วยซ้ำไป
“ความจริงกับที่คนด่ากัน เหมือนหนังคนละม้วน เวลาน้องออกมาน้องจะวิ่งมาเล่นกับพี่ๆ นักข่าว พี่เลี้ยงก็จะบอกว่าน้องมะลิ ไปเล่นกับพี่ๆ สิลูก พี่มีเพลงนะ เดี๋ยวพี่เขาเปิดเพลงให้ เราไม่เคยบังคับ ทุกคนเล่นกับน้องมะลิด้วยความเอ็นดู ไม่ใช่ไม่รู้สึกเศร้าที่พี่ปอป่วย แต่การเล่นกับมะลิ เปิดเพลงคือเราทำอยู่ในขอบเขต
บางครั้งญาติๆ หรือคุณโบว์ ก็ออกมาดูน้องเล่น เต้นกับพี่นักข่าวด้วยรอยยิ้มด้วยซ้ำ ทุกคนไม่ได้จะมาดรามาอะไรแบบพวกคุณเขียนด่าๆ กัน ทุกคนแฮปปี้ค่ะ ไม่มีใครที่ดรามาในส่วนนี้ แต่ก็มีขอความร่วมมือไม่ให้พี่ตากล้องใช้แฟลช เพราะจะเป็นอันตรายต่อสายตาของน้อง ซึ่งที่อยู่ ณ ตรงนั้นก็ปฏิบัติตามนะคะ”
ไม่หมดเพียงเท่านี้ยังมีกระแสที่ว่าทั้งรถของนักข่าวและแฟนคลับที่มาเยี่ยมพระเอกหนุ่ม ทำให้เกิดปัญหาที่จอดรถไม่พอ ที่จอดรถเต็มจนล้นตลอดทั้งวัน ทางทีมข่าวจึงทำการสอบถามโอปเรเตอร์ด้านหน้าได้รับข้อมูลมาว่า ในส่วนของสื่อมวลชนจะจอดรถที่ซอยสวนเงิน แต่หากนำรถมาจอดที่ตึกในกรณีที่ไม่ได้มาตรวจรักษาจะคิดเป็นชั่วโมงละ 100 บาท แต่หากมาเยี่ยมคนไข้ต้องมีคูปองติดต่อผ่านที่เคาร์เตอร์พยาบาล ในกรณีนี้คิดเป็นชั่วโมงละ 10 บาท
นอกจากนี้ ในส่วนของ รปภ. ยังต้องมีวิธีจัดการและการดูแลรถที่มากขึ้นด้วย ทั้งรถนักข่าว รถผู้ป่วย และรถของคนมาเยี่ยมก็เยอะมากขึ้น จากแต่ก่อนคนมาเยี่ยมมาจอดรถต่อวันเพียง 2000 คัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 5000 คันแล้ว ถือว่าเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบที่มากขึ้น รปภ. โรงพยาบาลรามาธิบดีให้ความเห็นเพิ่มเติม
“รถนักข่าวจอดในนี้เยอะครับ รถมาหลายคันครับประมาณ 20 กว่าช่อง เวลาเขามาจอดเขาจะมีสติกเกอร์ติดและแจ้งทะเบียนไว้ครับ ถ้านักข่าวมาจะโทร.จองไว้ก็จะมีที่ครับ ถ้าไม่โทรจองก็จะไม่มี แต่ส่วนมากไม่มีหรอกครับ ถ้ามาก็หาที่จอดกันเอาเอง ส่วนที่คิดชั่วโมงละ 100 บาทมีการเก็บค่าจอดรถไว้ก่อนหน้าที่นักข่าวจะมาทำข่าวอยู่แล้วครับ มีที่ไปจอดซอยสวนเงินด้วย มันแล้วแต่ว่าเขาจะยินยอมจ่าย จอดกี่ชั่วโมงก็จ่ายตามจำนวนชั่วโมงแล้วเขาก็เอาใบเสร็จไปแจ้งหัวหน้าเขา”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของการมาโรงพยาบาลนั้น จะต้องรักษาความสงบ ความสะอาด ต้องมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และไม่ละเมิดสิทธิของผู้ป่วยท่านอื่นๆ ในสถานที่ที่เรียกว่าส่วนรวมด้วย
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754