xs
xsm
sm
md
lg

ความสำเร็จ และ การสืบทอดของแพทย์ชนบท

เผยแพร่:   โดย: ชเนษฎ์ ศรีสุโข

ชเนษฎ์ ศรีสุโข พบ., วทม.


ผู้เขียนอยู่ในวงการแพทย์มานาน เพราะตั้งแต่จำความได้ ก็ได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยจากการตรากตรำทำงานหนักของบุพการี การอยู่เวร อดหลับอดนอน เป็นเรื่องธรรมดาของหมอ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขในระบบราชการ ที่ต้องทำงานไม่หยุดจนถึงเกษียณ ครอบครัวของเราต่อมาก็ล้วนเป็นคนในวงการเดียวกัน และเข้าใจวิถีชีวิตของกันและกัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าการสืบทอดวัฒนธรรมทางวิชาชีพ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการการแพทย์อยู่บ่อยครั้ง หมอในระบบราชการทุกวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดล้วนรับภาระการรักษาที่หนักมาก และเป็นศูนย์รับการส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ การตรวจคนไข้วันละหลายร้อยคน การทำงานเดือนละ 3-4 ร้อยชั่วโมง ถือเป็นเรื่องปกติ

เราทำงานอยู่ในจังหวัดที่น่าจะติดอันดับว่ามีความเจริญน้อย มีประชากรทั้งจังหวัด ประมาณ สามถึงสี่แสนคน กระนั้น แต่ก่อน เราก็มีความสุขดีไม่ต่างกับประชาชนในจังหวัดที่อยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน และ เราก็ไม่เคยเรียกตนเองว่าเป็นแพทย์ชนบท ความเป็นอยู่อย่างสงบของเรามีมานานจนเมื่อเกิดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบนี้ทำให้ความสุขของหมอรัฐบาลลดน้อยลง

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณ โดย กลุ่มอาจารย์หมออุดมการณ์ที่เรียกตนเองว่า “แพทย์ชนบท” ล้วนมีอาจารย์ใหญ่คนเดียวกัน เจ้าของทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ได้เจรจาสำเร็จในการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งคอยรวบรวมเงินงบประมาณการสาธารณสุขรายปีไว้ใช้จ่ายเอง และมีการใช้นโยบายบังคับให้โรงพยาบาลรัฐบาลทุกแห่ง รักษาฟรี หรือในชื่อ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” ระบบนี้มีคุณค่าอนันต์แก่ประชาชนไทยทั่วประเทศ เพราะ ทำให้คนเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลต่างๆ ได้รับการรักษาจากหมอผู้เชี่ยวชาญ และ แม้ว่าจะหายป่วยด้วยฝีมือแพทย์ท่านใดก็ตาม คนจำนวนมากก็ชื่นชมคุณทักษิณมาจนถึงทุกวันนี้

กระนั้น อีกด้านของระบบที่ทรงคุณค่านี้ คือการผลักภาระงานปริมาณมหาศาลให้แพทย์ในระบบราชการทั่วประเทศ คนทำงานจริงต้องทำงานอย่างหนัก สปสช.ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนไข้มาใช้บริการ แต่ไม่ได้เป็นคนรักษาเอง คนไข้กับหมอก็ขัดแย้งกันมากขึ้นเพราะเพิ่มจำนวนคนไข้โดยกำลังและคุณภาพการรักษาไม่พอย่อมเกิดความผิดพลาด ต่อมา สปสช. มีการบริหารงบประมาณ โดยหลักการเก็บเงินไว้ที่ตัวเองมากๆ ทั้งไว้เป็นงบบริหาร งบให้มูลนิธิต่างๆ งบทำโครงการทับซ้อนกับโรงพยาบาลต่างจังหวัด การกระจายงบประมาณให้โรงพยาบาลทั่วประเทศจึงลดน้อยลง ยิ่งทำให้เกิดภาวะขาดแคลน ทั้งด้านบุคลากร ด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล คุณภาพยา ขาดแคลนอาคาร ทรัพยากร อุปกรณ์ต่างๆ และนี่คือสิ่งที่พรากความสุขไปจากชีวิตของหมอที่ทำงานภาครัฐ เพราะงานหนักแต่ สปสช. ไม่สนับสนุนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีงบ

“แพทย์ชนบท” มีลักษณะอย่างไร สมัยแรกๆ แกนนำของคนเหล่านี้ คือหมอที่เคยออกอยู่กับคนในชนบทเมื่อราว สี่สิบปีก่อนเป็นต้นมา เคยเข้าป่าเพื่อรับเอาอุดมการณ์ “คนเท่าเทียมกัน” “ประชาชนเป็นใหญ่” เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นที่คิดจะปฏิรูปวงการแพทย์ คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนดี เป็นคนที่สัมผัสกับความทุกข์ยากของประชาชนจริง และไม่เคยลืมว่าสักวันต้องตอบแทนประชาชนทุกคน

“แพทย์ชนบท” หลังจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่อมาก็มีการจัดตั้งองค์กร ตระกูล สอ คือ มีชื่อ ส.นำหน้า ทั้ง สสส , สช, สพฉ, สวรส ,ฯลฯ เพื่อคอยบริหารงบประมาณแผ่นดิน และทำให้องค์กรของตัวเองอู้ฟู่ ความเป็นแพทย์ชนบทในแท้จริงแล้วจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่พวกเขาออกจากชนบทกลับมาอยู่ในเมือง แต่ก็ยังเป็นชื่อที่ขายได้ การอยู่ในองค์กรใหญ่ มีเงินหมุนเป็นจำนวนมาก ความเป็นอยู่ของผู้บริหาร อยู่ในอาคารใหญ่โต สะอาด สวย ห้องแอร์ คนรับใช้มากมาย เฟอร์นิเจอร์มาก เป็นภาพที่ตัดกับโรงพยาบาลรัฐบาลในต่างจังหวัด ที่ทุกวันนี้ลองเดินไปดู จะพบอาคารทรุดโทรม คนไข้ล้น ญาติคนไข้นอนตามพื้น ตามใต้เตียงคนไข้ เป็นภาพอันน่าเวทนา หากใครอยู่กรุงเทพจะเดินไปดูโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขบ้างก็จะพบภาพความจริง ทำให้ คนทำงานก็ก้มหน้าทำงานหนักต่อไป ทำไปบ่นไป และ จับกลุ่มต่อว่า ตระกูลสอ ทุกวัน

นี่ คือการปฏิรูปวงการสำเร็จ ของกลุ่ม “แพทย์ชนบท” โดยตัวเองไม่ได้มาลงหน้างาน ไม่ต้องตรวจคนไข้ แต่อยู่บนอาคารสวยหรู สง่างาม บอกประชาชนได้ว่า พวกเขาเป็นผู้อภิวัฒน์วงการสาธารณสุขไทย และรับเสียงสรรเสริญจากประชาชน

เมื่อแพทย์ชนบท จัดตั้งองค์กรตระกูลสอต่างๆได้มากแล้ว มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มภาคประชาชน และ NGOs จัดตั้งกลุ่มผู้สนับสนุนหลักประกันสุขภาพ ไว้คอยค้ำยันอำนาจตัวเอง สนับสนุนสื่อมวลชนให้ทำข่าวตัวเอง หากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจชุดไหนหืออือ ก็ก่อม็อบขับไล่ และมีคนรุ่นหลัง อายุราว 40 ปี ขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน กลุ่มหนึ่ง ได้ตั้งกลุ่ม “ชมรมแพทย์ชนบท” คอยให้สัมภาษณ์ออกสื่อ หรือแสดงพลังตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อเป็น “มวลชนสนับสนุน” ทำให้ระบบตระกูล สอ เจริญเติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ

ช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี พ.ศ.2558 ท่านได้ให้มีการตรวจสอบองค์กรตระกูล สอ และพบว่า มีการใช้งบประมาณโดยมิชอบ เรื่องการตกแต่งบัญชี การโอนเงินไปยังมูลนิธิต่างๆที่อยู่นอกกรอบกฎหมาย การจ่ายค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยงประชุมมากเกินเหตุ ทำให้ พลเอกประยุทธ์มีการสั่งโยกย้าย เลขาธิการ สปสช. ออกจากตำแหน่งเสีย ฝ่ายผู้สนับสนุนของเขาก็โวยวายกันใหญ่ ตั้งแต่ระดับศาสดา ระดับแกนนำพี่ใหญ่ จนถึงชมรมแพทย์ชนบท แต่หากไปดูเนื้อหาสาระที่จริงแล้ว การใช้งบประมาณแผ่นดินไปโดยมิชอบ และให้คนกลุ่มเดิมอยู่ในอำนาจมานาน กรรมการทับซ้อนในหลายองค์กร ตอบแทนกลุ่มเดิมไปมา เสี่ยงต่อการถูกมองว่าเอื้อผลประโยชน์แก่พวกตัวเองทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ ก็ยังมีการผลิตแพทย์ชนบทรุ่นใหม่ๆ เพื่อสืบทอดอุดมการณ์อยู่ แม้ว่าจะไม่ได้มีพ่อแม่คนเดียวกัน แต่รักกันเหมือนพี่น้อง ตระกูลสอคัดเลือก จาก คณะแพทย์ต่างๆที่มีการทำค่ายออกชุมชน จากแพทย์รุ่นใหม่นักกิจกรรมหัวอ่อน เชื่อคนง่าย ที่มีหน่วยก้านดี เชื่อมั่นในอุดมการณ์ “คนเท่าเทียมกัน” “ประชาชนเป็นใหญ่” เพื่อพิจารณาว่าใครคือผู้มีอุดมการณ์เข้าถึงหัวใจประชาชนจริงๆ และจะมีมีกลุ่มหมอจำนวนหนึ่งที่ได้รับการทามทามจากตระกูลสอ ให้ลดบทบาทการรักษาคนไข้ของตัวเองลง และเข้าไปทำงานร่วมกับตระกูลสอ บริหารงานในองค์กร สอ ต่างๆ รายได้ดี หรือได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อระดับสูง ทำงานศึกษาวิจัยเพื่อเป็นคุณแก่ตระกูลสอ (ถ้าเป็นโทษไม่ทำ) คนเหล่านี้ตระกูลสอ พร้อมมุ่งหวังให้พวกเขาได้กลับมาสืบทอดอุดมการณ์ต่อไป

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง อุดมการณ์ที่แท้จริง คือ การทำอย่างไรให้ตนเองมีอำนาจเหนือผู้ปฏิบัติงานจริงทั้งมวลได้ และสืบทอดอำนาจนั้นต่อไป ให้พวกตนเองเป็นอีกชนชั้นหนึ่งที่ได้บริหารงบประมาณแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยไม่สนใจว่าคนทำงานจริงจะมีคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร หรืองบประมาณจะสูญหายระหว่างทางไปเท่าไร...

***************
เกี่ยวกับผู้เขียน :
ชเนษฎ์ ศรีสุโข
เป็นหมอคนหนึ่งที่สนใจด้านการเมือง สังคม และ เป็นแฟนพันธุ์แท้ วงการสาธารณสุขไทย
งานหลักตรวจคนไข้ งานอดิเรก เรียน และ รู้ เรื่องชาวบ้าน
ว่างๆ มักถูกปรึกษาเรื่องราวสุขภาพ และโรคผิวหนัง
ช่วงนี้ ชอบกินอาหารคลีน และมีชีวิตอยู่อย่างสามัญชน

กำลังโหลดความคิดเห็น