HITAP เผย อินโดนีเซีย เตรียมใช้ “นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก” แบบไทย หลังวิธีบำบัดทดแทนไตทำระบบล้มเหลว เหตุเลือกฟอกเลือดเพราะได้รายได้จากการเบิกจ่ายมากกว่า ส่งผลผู้ป่วยไตส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษา
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (PD First Policy) ที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยดำเนินการในขณะนี้ ถือว่ามาถูกทางแล้ว เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาที่ดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่างให้ความสนใจและหันมาใช้นโยบายนี้ ซึ่งที่ผ่านมา HITAP ได้รับเชิญจากหน่วยงานที่ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศอินโดนีเซียให้ร่วมประเมินเพื่อหาแนวทางและวิธีการดูแลผู้ป่วยไตที่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศอินโดนีเซียเริ่มประสบปัญหาการดูแลผู้ป่วยไตแล้ว โดยมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยไต รวมถึงงบประมาณในการดูแล
นพ.ยศ กล่าวว่า อินโดนีเซียได้เริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยใช้งบประมาณหลักจากภาษีประชาชนเช่นเดียวกับประเทศไทย แม้จะมีการกำหนดจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบ้างสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้มาก แต่เป็นเม็ดเงินที่ไม่มาก และจากที่อินโดนีเซียเป็นประเทศมีประชากรมากถึง 240 ล้านคน แม้ว่าจะมีการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาแล้ว 3 - 4 ปี แต่ยังไม่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด โดยมีประชากรที่อยู่ในระบบเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น และเมื่อดูค่าใช้จ่ายในระบบพบว่า แม้ว่าค่าใช้จ่ายการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสูงเป็นอันดับ 2 ของค่าใช้จ่ายในระบบ แต่ยังไม่ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยไตในระบบทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้อินโดนีเซียต้องมีการทบทวนและหาแนวทางการดูแลผู้ป่วยไตที่เหมาะสม
ทั้งนี้ พบว่า ปัญหาการดูแลผู้ป่วยไตของอินโดนีเซียมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. การเปิดให้ผู้ป่วยและแพทย์เป็นผู้เลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตเอง ซึ่งแพทย์และหน่วยบริการส่วนใหญ่จะเลือกการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้กับผู้ป่วย เนื่องจากจะมีรายได้จากการเบิกจ่ายค่าบริการจากระบบมากกว่าการให้บริการล้างไตทางช่องท้อง 2. ภูมิประเทศมีสภาพเป็นเกาะมากกว่าหนึ่งหมื่นเกาะ การขยายจัดตั้งศูนย์ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้ครบทุกเกาะเป็นเรื่องที่ยาก นอกจากเครื่องไตเทียมมีมูลค่าที่สูงมากแล้ว ยังมีปัญหาบุคลากรให้บริการ และ 3. ผู้ป่วยไตที่มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศที่มีสภาพเป็นเกาะ เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางหลายครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเข้าถึงบริการ
“จากที่ HITAP ได้สนับสนุนคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประเมินเทคโนโลยี (the National Health Technology Assessment Committee) ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ประเมินทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอินโดนีเซีย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ตอนนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้วว่าอินโดนีเซียต้องปรับระบบและใช้นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งนอกจากเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยไตแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยไตในระบบได้ โดยผู้บริหารระดับสูงของอินโดนีเซียให้ความสนใจและต้องการเริ่มโครงการนำร่องตามแนวทางใหม่นี้ เพราะเป็นทางรอดเดียวของระบบ ไม่เช่นนั้นอินโดนีเซียจะต้องจัดตั้งศูนย์ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากกว่า 14,000 แห่ง ใน 14,000 เกาะทั่วประเทศ” หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าว
นพ.ยศ กล่าวว่า บทเรียนที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียสะท้อนว่า การดูแลผู้ป่วยไตของไทยเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาจากการประชุมนานาชาติ “PD First Policy” ครั้งแรกภูมิภาคอาเซียนเมื่อปลายปี พ.ศ.2557 พบว่าหลายประเทศเริ่มสนใจนโยบายนี้ เนื่องจากปัญหาผู้ป่วยไตคาดว่าจะเป็นปัญหาสำหรับทุกประเทศในอนาคต องค์การอนามัยโลกออกมาระบุแล้วว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกถึง 400 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไต และอีกใน 10 ปีข้างหน้าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว นั่นหมายถึงปัญหาโรคไตจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เชื่อว่า แนวโน้มประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะหันมาใช้นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกแน่นอน โดยเรื่องนี้ HITAP ได้จัดทำข้อสรุปและนำเสนอเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสาร Health Research Policy and Systems แล้ว
ส่วนกรณีที่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกอยู่นั้น นพ.ยศ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่รู้สึกแปลกใจ ทั้งไม่คิดว่าการวิจารณ์นี้จะจบลง เพราะในทางการแพทย์ ไม่แต่เฉพาะการล้างไตผ่านช่องท้องเท่านั้น แต่รวมถึงการรักษาโรคอื่น ๆ ยังมีความเห็นแย้งและการถกเถียงต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องการรักษาและวินิจฉัยโรคไม่มีใครผิดถูก 100% เพียงแต่หากมั่นใจว่านโยบายนี้ประเทศได้เดินมาถูกทาง ต้องทำการชี้แจงเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งกรณีการบำบัดทดแทนไตที่เปิดให้แพทย์และผู้ป่วยเป็นผู้เลือก มีบทเรียนจากประเทศที่ดำเนินนโยบายนี้แล้วล้มเหลวอย่างประเทศอินโดนีเซียที่ต้องเปลี่ยนระบบในที่สุด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่