xs
xsm
sm
md
lg

ชง สธ.บรรจุ “วัคซีนฮิบ” เป็นวัคซีนพื้นฐาน 5 ชนิด ใน 1 เข็ม คุ้มค่ากว่าฉีดเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กเล็งขอหารือ รมว.สธ. ชงบรรจุ “วัคซีนฮิบ” เป็นวัคซีนพื้นฐาน 5 ชนิดในเข็มเดียว ชี้ เพิ่มงบอีกเข็มละ 40 บาท คุ้มกว่าพ่อแม่พาลูกไปฉีดเองเข็มละ 700 - 800 บาท ระบุอัตราป่วยน่ากังวลมากพอ พร้อมพ่วงบรรจุ “วัคซีนโรต้า - เอชพีวี - ไอพีดี” ด้วย

วันนี้ (26 เม.ย.) รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย ปี 2016 ว่า โรคติดเชื้อหลายโรคสามารถรักษาและป้องกันได้ โดยเฉพาะการป้องกันด้วยวัคซีนในเด็ก ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ 2 - 3 ล้านรายต่อปี ซึ่งเด็กไทยโชคดีที่ประเทศไทยมีการให้วัคซีนที่ค่อนข้างดี แต่ไม่มีการบรรจุวัคซีนชนิดใหม่เป็นวัคซีนพื้นฐานที่รัฐจัดให้มานาน 15 ปีแล้ว โดยในปี 2559 ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่เด็กยังไม่ได้รับวัคซีนฮิบ (Hib) ป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ เป็นวัคซีนพื้นฐานของรัฐ ทั้งที่วัคซีนชนิดนี้มีใช้มานานกว่า 25 ปี และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึง 98% และหากเพิ่มวัคซีนฮิบเข้าไปเป็นวัคซีน 5 ชนิดในหนึ่งเข็ม ร่วมกับวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบบี ราคาจะอยู่ที่เข็มละ 100 บาท เพิ่มขึ้นจากวัคซีน 4 ชนิดในเข็มเดียวที่เด็กไทยรัฐฟรีในปัจจุบันอีกเพียงเข็มละ 40 บาท ถือว่าคุ้มค่ากว่าที่พ่อแม่ที่มีเงินพาลูกไปฉีดวัคซีน 5 ชนิด ที่ตกเข็มละ 700 - 800 บาท

“ฮิบเกิดจากแบคทีเรีย ชื่อ ฮิโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิด B (Haemophilus influenzae type b: Hib) อาศัยอยู่ที่คอของมนุษย์ หากร่างกายอ่อนแอก็จะทะลุเข้ากระแสเลือด ทำให้โลหิตเป็นพิษและเข้าสู่สมอง มีอัตราการเสียชีวิต 10% และอัตราพิการ 20 - 30% โดยปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบที่น่ากังวลเพียงพอที่จะให้วัคซีนนี้กับเด็ก มีราว 5 - 10 ต่อแสนประชากร ในกลุ่มผู้มีฐานะปานกลางถึงน้อย ซึ่งไม่แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะยังไม่มีการป้องกันโรคนี้ และในกลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงสูง อัตราจะน้อยกว่านี้ เพราะส่วนหนึ่งจะจัดหาวัคซีนให้ลูกเป็นการป้องกันด้วยตนเองแล้ว” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า การที่ยังไม่มีการกำหนดให้วัคซีนฮิบเป็นวัคซีนพื้นฐานที่รัฐจัดให้กับเด็กฟรี เนื่องจากอดีตมองว่าประเทศไทยมีการป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบน้อย เมื่อเทียบกับในประเทศแถบยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา อาจเป็นเพราะเผ่าพันธุ์เอเชียมีภูมิต่อโรคนี้ได้ง่าย ที่สำคัญ ระบบการบริหารจัดการวัคซีนของไทยมองว่าไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสียเป็นค่าวัคซีน แต่อยากบอกว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะหากเด็กไทยป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างแพง ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวเด็กต้องแบกรับและเมื่อรักษาหายแต่มีความพิการ และประเทศไทยต้องสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพไปในอนาคต จากนี้ในนามสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กจะขอเข้ารมว.สธ. เพื่อขอหารือเกี่ยวกับการให้รัฐจัดหาวัคซีนนี้สำหรับเด็กไทย ทั้งนี้ ในประเทศใกล้เคียงที่ไม่ได้มีฐานะดีกว่าประเทศไทย ได้มีความพยายามที่จะจัดหาวัคซีนให้กับเด็กอย่างมาก เช่น ประเทศฟิลิปปินส์มีการนำเงินจากภาษีบาปมาเป็นงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนที่จำเป็นให้กับเด็ก

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนที่สมควรจะเร่งรัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่รัฐจัดหาให้เด็กอีกอย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ 1. วัคซีนโรต้า (rota) ที่เป็นเชื้อก่อโรคท้องร่วงในเด็ก โดย 40% ของเด็กที่ท้องร่วงจะเกิดจากเชื้อชนิดนี้ และมีอาการรุนแรงสูงถึงขึ้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันหลายประเทศให้วัคซีนนี้กับเด็กในประเทศแล้ว 2. วัคซีนเอชพีวี (HPV) ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่ต้องให้กับเด็กโดยเฉพาะผู้หญิงตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และ 3. วัคซีนไอพีดี (ipd) ป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม แต่ราคายังแพง

ศ.พญ.อุษา ทิสยากร เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย และประธานการประชุมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย กล่าวว่า การปกป้องเด็กจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพอนามัยที่ดีมีพัฒนาการสมวัย มีภูมิต้านทานโรคและเจ็บป่วยลดลง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากหลายภาคส่วนเพราะสุขภาพเด็กเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาและสร้างประเทศในอนาคต สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย จัดประชุมนานาชาติโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชียปี 2016 ภายใต้แนวคิด รวมพลังเพื่อปกป้องเด็ก ระหว่างวันที่ 7 - 10 พฤศจิกายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีแพทย์ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ เพื่อนำเสนอแนวทางการป้องกัน ดูแลรักษาในการช่วยลดและแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.acpid2016.com สอบถามโทร. 0-2716-6534

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น