xs
xsm
sm
md
lg

เร่งทำโปรแกรมคุมประพฤติ “เมาแล้วขับ” ช่วยงาน รพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
สธ. สั่ง สสจ.- รพ. ทั่วประเทศ เร่งทำโปรแกรมคุมประพฤติ “คนเมาแล้วขับ” ช่วยงานใน รพ. หวังกระตุกต่อมสำนึกการก่ออุบัติเหตุ ชี้ หากแล้วเสร็จจะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด

นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี สธ. และกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม มีความเห็นร่วมกัน ให้ผู้กระทำผิด พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยเฉพาะคนเมาแล้วขับ ต้องถูกคุมประพฤติในโรงพยาบาล เพื่อให้มารับรู้ความเสียหายจากต่อสุขภาพร่างกายจากอุบัติเหตุ ว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา สธ. ได้ส่งหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผอ.โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อขอให้จัดทำโปรแกรมคุมประพฤติผู้ที่กระทำผิด พ.ร.บ. จราจรฯ ในโรงพยาบาล อาทิ การช่วยเหลืองานในห้องดับจิต หรือห้องเก็บศพ, ช่วยงานศูนย์เปล เข็นเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย, ศูนย์สั่งการอุบัติเหตุ การปล่อยรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อออกไปรับผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ, บริจาคเลือด เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลเป็นหลักเพราะบางแห่งไม่มีห้องดับจิต

นพ.อนุรักษ์ กล่าวว่า เมื่อจัดทำโปรแกรมเสร็จแล้ว จะไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด ซึ่งในส่วนของกรมคุมประพฤติจะมีหนังสือสั่งการลงไปเพื่อให้รับเรื่องนี้ และเมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จแล้ว สำนักงานคุมประพฤติจะดูฐานความผิดและพิจารณาโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนก่อนส่งตัวมายังโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีโปรแกรมรองรับ สำหรับผู้ที่จะมาคุมประพฤตินั้น ห้ามถ่ายรูปออกไปเผยแพร่เด็ดขาดเพราะจะเป็นการผิดกฎหมายละเมิดสิทธิของผู้ป่วยและญาติ โดยที่ไม่ได้รับการยินยอม ทั้งนี้ ตั้งแต่เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีผู้ที่ต้องถูกคุมประพฤติหลายพันคน แต่เริ่มมีเข้าไปบำเพ็ญประโยชน์ในโรงพยาบาลบางแห่ง เช่น จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ ที่เหลือคาดว่าน่าจะทยอยทำ

“ผู้ถูกคุมประพฤติไม่มีสิทธิเลือกว่าจะทำอะไร เพราะคุณทำผิด แต่เป็นความกรุณาที่ไม่ต้องถูกคุมขังด้วยซ้ำ แต่ทางกรมคุมประพฤติจะพิจารณาเลือกวิธีการคุมประพฤติที่เหมาะสมกับแต่ละคนบุคคลเอง เพื่อไม่ให้การคุมประพฤติเป็นการทำร้ายเขาเกินไป เนื่องจากสภาพในโรงพยาบาลไม่ได้น่าดู จนบางคนอาจจะถึงขั้นช็อกหมดสติก็ได้” นพ.อนุรักษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น