xs
xsm
sm
md
lg

สักเฮนนาพบเกิดปัญหามากสุด แฉบางรายใช้สีย้อมผม เสี่ยงรับสารก่อมะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนชอบ “สัก” ระวัง!! สธ. เผยพบคนเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังสักถึง 75% เจ็บแสบ คัน บวม เป็นหนอง เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ชี้สักเฮนนาจากสีรากไม้พบปัญหามากสุด แฉบางรายแอบใช้สีย้อมผมแทนเฮนนา หวังสีเข้มติดทนนาน หวั่นรับสารก่อมะเร็ง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันการสักผิวหนังเพื่อความสวยงามกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาการแต่งหน้า เช่น การสักคิ้ว สักปาก สักแก้ม เป็นต้น การสักในบริเวณที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพในการสมัครทำงานในองค์กรต่าง ๆ ในอนาคตได้ อีกทั้งขณะนี้เครื่องมือและสีที่ใช้ในการสัก ยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานใด และไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ของสถานพยาบาล หรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่จะต้องขึ้นทะเบียน และควบคุมมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข จึงขอให้ผู้ที่ต้องการสักตระหนัก และเลือกใช้สถานบริการที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัย เพราะหากใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาด ไม่เปลี่ยนเข็มสัก หรือใช้สีสักขวดเดียวกัน จะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้

ด้าน ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยว่า รายงานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสัก พบได้ร้อยละ 75 ของผู้สักทั้งหมด โดยจะมีอาการเจ็บแสบบริเวณแผล มีอาการคัน บวม เป็นหนอง มึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ สาเหตุจากการแพ้สีสักและเครื่องมือที่ใช้ในการสักมีการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ บางรายที่สักมาแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นรอยแผลเป็นที่เห็นชัดเจนบนใบหน้าและร่างกาย ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ที่สำคัญคือ หากใช้เข็มซ้ำกับคนอื่น หรือนำสีสักที่เหลือมาสักต่อ ก็อาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ซี เชื้อรา หรือ เอชไอวี ได้

ดร.นพ.เวสารัช กล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบบ่อย คือ การสักเฮนนา ซึ่งเป็นสีธรรมชาติที่ทำจากรากไม้ ขณะนี้มีผู้สักบางรายแอบนำสีย้อมผมใช้แทนเฮนนา เพื่อให้มีสีเข้มและติดทนนานขึ้น นอกจากนั้น สีสักมักใช้สีที่ผลิตมาเพื่ออุตสาหกรรม เช่น สีเคลือบรถยนต์ สีหมึกพิมพ์ สีทาบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เนื่องจากจะมีโลหะหนักและสารไฮโดรคาร์บอนก่อมะเร็งผสมอยู่ รวมทั้งหากต้องการลบรอยสักต้องใช้ลำแสงเลเซอร์ ไปทำลายอนุภาคของเม็ดสีให้กระจายตัวออก กลายเป็นสารก่อมะเร็งต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดมะเร็งตามมา นอกจากนี้ หากผู้ที่สักป่วยและต้องเข้ารับตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งเป็นเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง จะเกิดการดูดกันระหว่างโลหะหนักที่ผสมอยู่ในสีที่สักกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องตรวจ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแสบร้อนบริเวณรอยสักได้  

ขอแนะนำผู้ที่ต้องการสักลายสวยงามบนผิวหนัง ให้ใช้วิธีติดสติกเกอร์แทตทูที่สามารถเปลี่ยนลายได้บ่อย ๆ แทนการสัก หากต้องการสักจริง ๆ ควรสักบริเวณที่เหมาะสมและเล็กที่สุด ควรใช้สีเดียวในการสัก โดยเฉพาะสีดำ จะแก้ไขรอยสักได้ง่ายกว่าสีอื่น ที่สำคัญควรคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยของสถานที่ เครื่องมือ สีที่ใช้สัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา ดร.นพ.เวสารัช กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น