xs
xsm
sm
md
lg

มรดกทางวัฒนธรรมจีน “พุทธศิลป์แห่งศรัทธา สมัยราชวงศ์หมิง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระอาทิพุทธะไวโรจนะ
วธ. เตรียมนำมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นเยี่ยมของจีน 146 ภาพ จัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง “พุทธศิลป์แห่งศรัทธา สมัยราชวงศ์หมิง” เป็นภาพแสดงความรุ่งเรือง ศรัทธาในศาสนาในอดีต

วันนี้ (27 เม.ย.) ที่ห้องประชุม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “พุทธศิลป์แห่งศรัทธา สมัยราชวงศ์หมิง” จิตรกรรมคัดลอกโดย เจ้า ชิ่งเซิง เนื่องในวันวิสาขบูชา และร่วมเฉลิมฉลองเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วย ดร.วิชิต ลอลือเลิศ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจไทย - อาเซียน + 6 ตัวแทนผู้ร่วมดำเนินการจัดนิทรรศการ และ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมแถลงข่าว

นายวีระ กล่าวว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมส่งเสริมธุรกิจไทย - อาเซียน + 6 และสมาคมสารสนเทศวัฒนธรรม (Chinese Cultural Information Association) กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง “พุทธศิลป์แห่งศรัทธา สมัยราชวงศ์หมิง” จิตรกรรมคัดลอกโดย เจ้า ชิ่งเซิง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ภายใต้เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 โดยนำเสนอผลงานศิลปะเชิงอนุรักษ์พระบฏ หรือจิตรกรรมส่วยลู่ จากวัดเป่าหนิง เมืองซูโจว มณฑลซานซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดเป่าหนิง สร้างขึ้นโดยพระราชโองการของจักรพรรดิเทียนซุ่น แห่งราชวงศ์หมิง กว่า 580 ปี รวมทั้งสิ้น 146 ภาพ โดยภาพเหล่านี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ลัทธิขงจื้อ และลัทธิเต๋า ที่รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นเยี่ยมของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาโดยพิพิธภัณฑ์มณฑลซานซี และเป็นโบราณวัตถุระดับชาติชั้น 1 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายวีระ กล่าวว่า เจ้า ชิ่งเซิง เป็นศิลปินอาวุโสของจีนและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะโบราณวัตถุของคณะกรรมการบูรณะโบราณวัตถุแห่งประเทศจีน ได้ทำการศึกษาภาพส่วยลู่ วัดเป่าหนิง สมัยจักรพรรดิเทียนซุ่น แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งต้นฉบับเลือนลาง และได้สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมดังกล่าว ตามขนาด เนื้อหา เทคนิค และรูปแบบศิลปกรรมจากศิลปกรรมต้นแบบสมัยราชวงศ์หมิงขึ้นใหม่อีกครั้งอย่างครบถ้วน ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการอนุรักษ์และสืบสานงานศิลปกรรมโบราณของศิลปินจีน

“นิทรรศการพุทธศิลป์นี้ได้เปิดตัวที่ประเทศจีนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมที่ศิลปินของจีน และใช้เวลายาวนานมากในการลอกภาพเหล่านี้ลงบนผืนผ้าใบ จำนวน 146 ภาพ ซึ่งภาพเหล่านี้แสดงถึงความรุ่งเรืองและความศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวจีน ราวกว่า 500 ปีที่ผ่านมา และนับเป็นโอกาสดีที่ทางการจีนได้อนุญาตให้ไทยได้ยืมนิทรรศการชุดนี้มาจัดแสดงในประเทศไทย ซึ่งตรงกับเทศกาลวิสาขบูชา นับเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ชม และเป็นภาพที่หาชมได้ยาก จึงอยากเชิญชวนให้มาชมนิทรรศการนี้”

ยกตัวอย่างภาพ พระอาทิพุทธะไวโรจนะ เป็นธรรมกาย (กายแห่งธรรม) ของพระพุทธเจ้าศรีศากยมุยนี นาม “ไวโรจนะ” แปลตรงตัวได้ว่า ช่วงเวลาแห่งแสงสว่าง แต่ก่อนแปลความหมายว่า ช่วงเวลาแห่งพุทธะ หรืออาจแปลได้ว่า ห้วงเวลาอันสูงส่ง องค์พระพุทธเจ้า หรือกายของพระพุทธองค์ ในฐานะกฎแห่งธรรม ธรรมกาย หรือ ธรรมกายา มีความหมายเชื่อมโยงกับระบบของจักรวาล ที่หมายรวมถึงลักษณะทางกายภาพทั้งหมดของร่างกายมนุษย์ แนวคิดดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานว่าด้วย พระพุทธเจ้าไวโรจนะพุทธะ ในฐานะแสงสว่าง จึงเป็นเสมือนกับเครื่องช่วยขจัดปัดเป่าปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เป็นเสมือนกับแสงนำทางชีวิตและสรรพสัตว์ให้ก้าวข้ามพ้นจากความมืดมิด เป็นที่เคารพศรัทธา แก่ผู้ที่หวังพึ่งพาแสงสว่าง นำทางไปสู่ปัญญาและความรู้แจ้ง

นอกจากนี้ ยังมีภาพพระโพธิสัตว์กวนอิม หรือรู้จักกันในอีกชื่อของพระนามเดิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (สันสกฤต) เป็นหนึ่งในสี่พระโพธิสัตว์องค์สำคัญ ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน. ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาอันแผ่ไพศาล ตามตำนานพระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ทรงเห็นสรรพสัตว์เป็นทุกข์ทรมานอยู่ในสังสารวัฏ จึงยังไม่ปรารถนาพระนิพพาน หากแต่มีพระประสงค์จะช่วยเหลือสรรพสัตว์เหล่านั้นให้ก้าวข้ามผ่านความทุกข์เข็ญ ทรงมีพุทธลักษณะที่สง่าง่ามและเปี่ยมด้วยเมตตา พระองค์มักปรากฏกายในลักษณะที่ทรงถือหม้อน้ำมนต์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์พุทธศาสนา ฝ่ายมหายานอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างเหลือล้น เพศสภาวะของพระองค์ไม่สามารถจำเพาะว่าเป็นอิตถีเพศ หรือบุรุษเพศ

สำหรับนิทรรศการ “พุทธศิลป์แห่งศรัทธา สมัยราชวงศ์หมิง” จัดแสดงระหว่างวันที่ 4 - 29 พ.ค. 2559 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร.02-281-2224
พระโพธิสัตว์กวนอิม

กำลังโหลดความคิดเห็น