xs
xsm
sm
md
lg

รังสียูวีตัวร้ายทำลายผิว เสี่ยงต้อเนื้อ ต้อลม แนะป้องกันก่อนออกแดด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.เตือนรังสียูวีอันตราย เสี่ยงโรคกระจกตาอักเสบ ต้อเนื้อ ต้อลม และต้อกระจก ผิวหนังไหม้เกรียม แนะเลี่ยงแดดช่วงเวลา 10.00-14.00 น. สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดดถนอมสายตา

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ.กล่าวว่า รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวีในแสงแดด มีทั้งคุณ และโทษต่อสุขภาพ ช่วยสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนัง และมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมเนื้อเยื่อกระดูก ผลเสียคือ ทำอันตรายต่อผิวหนัง อาจไหม้เกรียม เหี่ยวย่น เป็นอันตรายต่อดวงตาหากได้รับรังสียูวีโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน โดยผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นคือ กระจกตาอักเสบ มีอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง ตาแดง ระยะยาว เช่น ต้อเนื้อ ต้อลมหรือ ต้อกระจก ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ.ปี 2557 พบผู้ป่วยโรคตาทุกชนิดเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกกว่า 5.2 ล้านครั้ง และเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยในด้วยโรคตา เยื่อบุตา และกระจกตาอักเสบ จำนวนกว่า 30,000 คน โรคต้อกระจกและความผิดปกติของเลนส์อื่นๆ อีกกว่า 200,000 คน

“เพื่อป้องกันดวงตาให้ปลอดภัยจากรังสียูวี ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร ชาวสวน ช่างก่อสร้าง ชาวประมง ผู้ขับขี่รถในช่วงแดดจัด รวมทั้งผู้ที่อาศัยใกล้แม่น้ำ ทะเลมีแสงแดดสะท้อนจากผิวน้ำ ควรหลีกเลี่ยงอยู่กลางแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. ซึ่งมีปริมาณรังสีจะเข้มข้น และจะเข้มข้นมากที่สุดในช่วงเที่ยงวัน ถนอมสายตาด้วยการสวมหมวกที่มีปีกยื่นออกมาข้างหน้า และแว่นกันแดด โดยเลือกใช้แว่นที่สามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลต สำหรับคนที่ใส่แว่นสายตาเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นการป้องกันรังสีได้ในระดับหนึ่ง” โฆษก สธ.กล่าวและว่า นอกจากนี้ ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดในทุกๆ จุดที่ไม่ได้อยู่ใต้เสื้อผ้าอย่างน้อย 15-30 นาทีก่อนออกไปเจอแสงแดด แม้ว่าจะเป็นวันที่มีเมฆมากก็ควรทา และทาทุกๆ 2 ชั่วโมง ตามคำแนะนำบนฉลาก หรือตามที่ต้องการ โดยเฉพาะหลังจากการว่ายน้ำ หรือเหงื่อออก สวมใส่เสื้อผ้าป้องกัน เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น