xs
xsm
sm
md
lg

วิธีเตรียมตัวก่อน-หลังผ่าตัดฝังสายล้างไตช่องท้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอแนะวิธีเตรียมตัวก่อน “ผ่าตัด” ฝังสายล้างไตทางช่องท้อง เผยหลังผ่าตัดต้องพักท้อง ลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ ผักผลไม้มีโพแทสเซียมสูง อาหารเค็ม เลี่ยงยกของหนัก ไอ จาม เบ่งรุนแรง



ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภาพยนตร์แอนิเมชัน “รู้ทันโรคไตไปกับคิดดี” ว่า การรักษาโรคไตด้วยการล้างไตทางช่องท้อง แพทย์จะทำการผ่าตัดฝังสายเท้งคอฟเข้าไปในช่องท้อง ซึ่งก่อนฝังสายดังกล่าวนั้นผู้ป่วยจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม คือ ดูแลความสะอาดของร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนๆ ชำระร่างกาย และฟอกสบู่ที่หน้าท้องให้สะอาด ถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะให้เรียบร้อย พร้อมเซ็นใบยินยอมก่อนเข้าห้องผ่าตัด หยุดยาต้านเกล็ดเลือด หรือยายับยั้งการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน เป็นต้น หากมีไส้เลื่อนควรแจ้งแพทย์ด้วย

ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากฝังสายเท้งคอฟ ปลายสายอีกข้างหนึ่งจะโผล่ออกมานอกท้องเพื่อเอาไว้ใช้ต่อกับถุงน้ำยา ซึ่งช่วงที่เพิ่งฝังสายไปนั้นผู้ป่วยจะต้องพักท้องประมาณ 1-2 สัปดาห์ เรียกว่าระยะ “เบรกอิน” โดยช่วงนี้ถือว่าสำคัญมาก ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด คือ ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ จำกัดผัก และผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ทุเรียน กล้วย ลำไย น้อยหน่า ขนุน ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ ผักใบเขียว หรือมีกลิ่นฉุน แครอท เป็นต้น จำกัดน้ำดื่ม และงดเครื่องดื่มที่มีฟอสเฟตสูง เลี่ยงอาหารเค็ม น้ำพริก น้ำจิ้ม ซอสปรุงรส อาหารหมักดอง หรือมีผงชูรสเป็นส่วนประกอบ ดูแลช่องทางออกของสายให้ดี ไม่ให้ผ้าก็อซติดแผลเปียกชื้น

“การทำแผลระยะนี้ควรให้หมอ และพยาบาลทำแผล โดยต้องสวมผ้าปิดปาก จมูก ใส่ถุงมือปลอดเชื้อ และทำแผลด้วยน้ำเกลือเท่านั้น ห้ามกระตุกดึงรั้งสาย เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อได้ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไอ จาม เบ่งที่รุนแรง นั่งยองๆ นอนคว่ำ นอนตะแคงทับข้างที่มีแผลช่องทางออก หากต้องการไอ หรือจามควรเอามือกุมหน้าท้องขณะไอ จาม เพื่อผ่อนแรงที่แผล และช่วงนี้พยาบาลจะสอนวิธีการเปลี่ยนถุงน้ำยา การทำความสะอาดแผล และการดูแลตนเองต่อไปในช่วงที่ต้องล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง” ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น