รพ.จุฬาฯ ปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดรายแรกในอาเซียน ล้างเอาเพียงภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านการข้ามหมู่เลือดออก ไม่ต้องทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมด แพทย์มั่นใจวิธีรักษานี้ช่วยชีวิตคนไข้ไตวายเรื้อรังเพิ่ม 12%
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จัดแถลงข่าว “มอบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยโรคไต” การประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด ด้วยเทคนิคล้างน้ำเหลืองไม่ทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมดเป็นรายแรกในอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ ประสบความความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตมาตลอด ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ล่าสุด ทีมแพทย์ได้พัฒนาโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ล้างน้ำเหลืองก่อนการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดมาใช้กับคนไข้ที่รักษาที่ รพ.จุฬาฯ และประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของอาเซียน
ศ.นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ รองหัวหน้าหน่วยโรคไต ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ และผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามปกติในเลือด และน้ำเหลืองของคนจะมีภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี้เมื่อมีการปลูกถ่ายไต ภูมิคุ้มกันร่างกายก็จะทำลายไตที่เข้าไปใหม่ ที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องใช้ไตจากผู้บริจาคที่มีหมู่เลือดเข้ากันได้กับผู้รับบริจาค แต่การปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดจะใช้วิธีการกำจัดแอนติบอดี้ ชนิดที่เป็นตัวป้องกันความแตกต่างของหมู่เลือดออกไปทั้งหมด พบว่า มีเพียง 1% ของภูมิคุ้มกันทั้งหมดของร่างกาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือด โดยสามารถล้างเอาเพียงภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่อต้านการข้ามหมู่เลือดออกมา ทำให้ไม่ต้องทำลายภูมิคุ้มกันทั้งหมด
“การปลูกถ่ายไตข้ามหมูเลือดนี้จะช่วยคนไข้ไตวายเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีก 20% อย่างเช่น การปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสที่สมเด็จพระเทพฯ มีพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ปลูกถ่ายไตครบ 600 คน หากนำวิธีการนี้เข้าไปดำเนินการด้วยก็จะปลูกถ่ายไตได้เพิ่มขึ้นอีก 120 คน จะช่วยคนไข้ได้ 720 คน” ศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าว
ศ.นพ.ยิ่งยศ กล่าวว่า คนไข้เป็นไตวายเรื้อรังที่มีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะทนต่อการผ่าตัดใหญ่ได้ โดยทีมแพทย์จะประเมินคนไข้ก่อน รวมทั้งต้องได้รับยากดภูมิระหว่างการฟอกเลือด หากคนไข้มีความพร้อมตามที่แพทย์ประเมิน และมีผู้บริจาคไตให้ก็สามารถปลูกถ่ายไตด้วยวิธีนี้ได้ อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายของประเทศไทยกรณีที่ผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่จะต้องเป็นญาติโดยสายเลือด
นายพรชัย โชติวุฒนภิญโญ ในฐานะคนไข้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตข้ามหมู่เลือดรายแรกของอาเซียน กล่าวว่า พบว่ามีภาวะไตเสื่อมจนถึงต้องฟอกเลือดราว 7 ปี และรับการฟอกเลือดมาแล้ว 10 เดือน ตั้งใจจะปลูกถ่ายไตโดยน้องสาวเป็นผู้บริจาคไตให้ตน พบว่า หมู่เลือดเข้ากันไม่ได้ และตั้งใจจะไปลงชื่อเพื่อขอรับบริจาคไต กระทั่งตนค้นข้อมูลพบว่า รพ.จุฬาฯ สามารถเปลี่ยนถ่ายไตข้ามหมู่เลือดได้จึงตัดสินใจมาเข้ารับการรักษาที่ รพ.จุฬาฯ ใช้เวลาตั้งแต่มาพบแพทย์ครั้งแรกจนปลูกถ่ายสำเร็จ 3 เดือน ตนขอขอบคุณทีมแพทย์จุฬาฯ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลตนเป็นอย่างดี และขอบคุณน้องสาว ญาติทุกคนที่คอยให้กำลังใจ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่