ท่ามกลางวิกฤตปัญหาสุขภาพจากสารพิษการเกษตร เกษตรอินทรีย์คือ ทางออก เพราะดีต่อสุขภาพของคน และสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจะเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร เราลองมาเรียนรู้จากสิกขิม เป็นรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีประชากรราว 540,000 คน ที่มีความมุ่งมั่นในการแปลงเกษตรกรรมของรัฐสิกขิมให้เป็นอินทรีย์ทั้งหมด โดยเริ่มจากวิสัยทัศน์ของผู้ว่าการรัฐสิกขิม Shri Pawan Chamling ที่ประกาศในสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ในปี พ.ศ.2546
ขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากเกษตรเคมี สู่เกษตรอินทรีย์ ในรัฐสิกขิม สรุปดังนี้
กำจัดการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้มาตรการที่จะกีดกันการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และทดแทนโดยปุ๋ยอินทรีย์ และควบคุมโรค และแมลงศัตรูพืชโดยวิธีทางชีวภาพ ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2003 รัฐถอนการอุดหนุนของปุ๋ยเคมี และในปี 2006 เป็นต้นไป รัฐดำเนินการตามแผนที่ในการกำจัดเคมี และค่อยๆ แทนที่ด้วยอินทรีย์
จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน และข้อกำหนดตามกฎหมายที่จะทำให้เกิดกระบวนการเกษตรอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น สร้างหน่วยปุ๋ยหมักในชนบทที่ห่างไกล สร้างของหน่วยปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน การวิจัย และพัฒนาความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์
สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรในการเปลี่ยนแปลงการผลิตเป็นอินทรีย์ ร่วมกับการแทรกแซงจากรัฐเพื่อรับประกันตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เช่น สร้างแหล่งเรียนรู้การจัดการธาตุอาหารในฟาร์ม ปุ๋ยชีวภาพ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การแก้ไขดินที่เป็นกรด การได้รับการรับรองอินทรีย์
พัฒนารูปธรรมการดำเนินงาน ดังตัวอย่าง
oรูปธรรมชุดแรกของการดำเนินงาน คือ โครงการหมู่บ้านชีวภาพโดยใช้เทคโนโลยีอีเอ็ม เริ่มต้นในปีแรก พ.ศ.2546 จนถึง 2553 ดำเนินการโดยกรมความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาการเกษตรร่วมมือกับภาคเอกชน หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 396 หมู่บ้าน มีเกษตรกรจำนวน 14,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 35,400 ไร่
oการผลิตเมล็ดพันธุ์เน้นเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นอินทรีย์ ผลิตในสภาพแวดล้อมอินทรีย์
oการผลิตอาหารสัตว์กำหนดให้เป็นอินทรีย์ และปุ๋ยมูลทั้งหมดทำขึ้นจากมูลวัวที่เลี้ยงอย่างอินทรีย์
ตั้งเป้าเพื่อไต่บันไดไปให้เป็นรัฐอินทรีย์ในปี พ.ศ.2558 โดยรัฐสิกขิม กำหนดเป้าหมายของพื้นที่อินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเต็มพื้นที่ ดังตาราง
ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวเกษตรอินทรีย์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของรัฐสิกขิม แสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า แสดงออกผ่านวิสัยทัศน์ และความร่วมไม้ร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่ เกษตรกร ผู้บริโภค องค์กรท้องถิ่น โดยการสนับสนุนของรัฐบาล หน่วยงานเอกชน
สำหรับประเทศไทย หากเทียบกับรัฐสิกขิม เกษตรอินทรีย์ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง ว่าเราจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร เราอาจจะเริ่มจากระดับรากฐาน คือ สร้างหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ อำเภอเกษตรอินทรีย์ สู่จังหวัดเกษตรอินทรีย์
ถ้าทำได้ เมืองไทยจะน่าอยู่กว่านี้อีกเยอะค่ะ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่